ข่าวประชาสัมพันธ์

จากสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย

ข่าวเช้า 9 มีนาคม 2565

รมว.มท. มอบสารเนื่องในวันคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ประจำปี 2565 ย้ำ “คณะกรรมการหมู่บ้าน” เป็นกลไกสำคัญที่ทำงานอยู่ใกล้ชิดประชาชนขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงมหาดไทยในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชนบรรลุผลอย่างมีประสิทธิภาพ

วันนี้ (9 มี.ค. 65) พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มอบสารเนื่องในโอกาสวันคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) 9 มีนาคม 2565 ความว่า “กระทรวงมหาดไทยเป็นองค์กรหลักในการนำยุทธศาสตร์ชาติ แปลงสู่การจัดทำและขับเคลื่อนการพัฒนาในระดับพื้นที่ ด้วยการยึดหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) สร้างความร่วมมือ บริหารจัดการและบูรณาการงานทุกเรื่องในพื้นที่ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยมีวิสัยทัศน์คือ “ประชาชนมีรากฐานการดำรงชีวิตและพัฒนาสู่อนาคตได้อย่างมั่นคงและสมดุล ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งการจะดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จนั้น คณะกรรมการหมู่บ้านเป็นกลไกสำคัญที่ทำงานอยู่ใกล้ชิดประชาชน ทำหน้าที่บูรณาการการแก้ไขปัญหาและพัฒนาหมู่บ้านให้มีเอกภาพ เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน เหมือนดังคำที่ว่า “ประเทศต้องมีรัฐบาล หมู่บ้านต้องมี กม.” และขอขอบคุณกรรมการหมู่บ้านทุกท่านที่ได้ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ ปฏิบัติตนด้วยความเสียสละ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวงมหาดไทยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตามบทบาทหน้าที่ในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชน”

 

ด้าน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มอบสารเนื่องในโอกาสเดียวกันนี้ ความว่า “คณะกรรมการหมู่บ้านจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 ถือเป็นกลไกของหมู่บ้านที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด เปรียบเสมือนเป็น “คณะรัฐมนตรีประจำหมู่บ้าน” มีความรู้และสามารถเข้าถึงข้อมูลสภาพปัญหาและความต้องการของประชาชนในหมู่บ้านดีที่สุด โดยมีโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ครอบคลุมการทำงานในทุกมิติของหมู่บ้าน ทำหน้าที่ในการนำนโยบายไปปฏิบัติ และขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐให้เกิดผลสัมฤทธิ์เพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชนในหมู่บ้าน และขอขอบคุณกรรมการหมู่บ้านทุกท่านที่ได้เสียสละ ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการปฏิบัติหน้าที่ตามแนวคิดในการขับเคลื่อนงานว่า “Change for Good” เพราะเมื่อคณะกรรมการหมู่บ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงาน จะทำให้เกิดสิ่งที่ดีและมีค่าแก่สังคม เป็นที่เชื่อถือ เชื่อมั่น สร้างหมู่บ้านที่เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมบทบาทจิตอาสาตามโครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด เพื่อให้เกิดความสามัคคี มีความสุข ประเทศชาติมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน