ข่าวประชาสัมพันธ์

จากสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย

ข่าวเช้า 3 มีนาคม 2565

มท.1 ติดตามการดำเนินการคืนคลองสวย น้ำใส ให้คลองแห จังหวัดสงขลา เน้นย้ำ การแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันทำไปพร้อมกัน เพื่อให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ดี ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน

วันนี้ (3 มี.ค. 65) เวลา 13.45 น. ที่ศาลาอเนกประสงค์วัดคลองแห อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก ไตรรัตน์ รังคะรัตน นายยงยุทธ โกเมศ นายวุฒิเดช ศรีสุทธิสุริยา คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ด้านบริหาร นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน นายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินการกิจกรรมคืนคลองสวย น้ำใส ให้คลองแห จังหวัดสงขลา โดยมี นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วยนายวรณัฎฐ์ หนูรอต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พลตรี สิรภพ ศุภวานิช ผู้บัญชาการกองพลพัฒนาที่ 4 และหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่  ให้การต้อนรับและบรรยายสรุป

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถพิจารณาออกเทศบัญญัติและข้อบัญญัติเพื่อให้บ้านทุกหลังคาเรือนทำการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่ระบบระบายน้ำสาธารณะ ขณะเดียวกัน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียรวม รวมน้ำเสียเพื่อบำบัดก่อนปล่อยลงสู่ลำน้ำสาธารณะ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยสำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการ พร้อมทั้งสร้างการรับรู้ความเข้าใจให้กับพี่น้องประชาชน นอกจากนี้ ยังสามารถพิจารณาเสนอสภาท้องถิ่นออกเทศบัญญัติเพื่อจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียระยะยาวได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเรื่องการแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียนี้ ทุกคน ทุกภาคส่วน ต้องร่วมกันทำไปพร้อมกัน เพื่อให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ดี ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดี มีบ้านเมืองที่สะอาด ทรัพยากรธรรมชาติปลอดมลพิษส่งต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน 

นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า คลองแห เป็นคลองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีระยะทางยาวประมาณ 5 กิโลเมตร  ทั้งนี้ จากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมืองหาดใหญ่และพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้คลองแหได้ประสบปัญหาภาวะหลายอย่าง เช่น ปัญหาขยะ ปัญหาน้ำเสีย และตื้นเขินจากการไหลของน้ำที่ไหลจากต้นน้ำ สู่ปลายน้ำ โดยเฉพาะน้ำที่ไหลผ่านคลองแห ส่วนใหญ่จะเป็นน้ำจากครัวเรือนในพื้นที่คลองแห และพื้นที่ใกล้เคียง โดยจังหวัดสงขลา ได้กำหนดให้คลองแห เป็นแหล่งน้ำในการฟื้นฟูเพื่อเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ เนื่องจากมีจุดเริ่มต้นจาก โครงการจิตอาสา “ลงมืออาสา” คืนคลองสวยน้ำใสให้คลองแห จังหวัดสงขลา โดย ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน ได้กำหนดโครงการพัฒนาคลองต้นแบบในพื้นที่ภาคใต้ จำนวน 2 แห่ง ประกอบด้วย คลองแห จังหวัดสงขลา และคลองบางใหญ่ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งคลองแห จังหวัดสงขลา เป็น 1 ใน 2 ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นคลองต้นแบบ สอดคล้องยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดสงขลา ประเด็นการพัฒนาที่ 3 อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ด้าน พลตรี สิรภพ ศุภวานิช ผู้บัญชาการกองพลพัฒนาที่ 4 กล่าวว่า สำหรับแผนงานการปฏิบัติเพื่อคืนคลองสวย น้ำใส ให้คลองแห จังหวัดสงขลา ได้แบ่งเป็น 3 ระยะ โดยแผนงานระยะที่ 1 (ระยะเร่งด่วน) ห้วงเดือนธันวาคม 2564 ถึงเดือนมกราคม 2565 ได้แก่ ช่วงที่ 1 เริ่มจากบริเวณสะพานข้างร้านอาหารมิตรโอชา (ข้างบิ๊กซีคลองแห) ถึง สะพานประชาสรรค์ สภาพพื้นที่/ปัญหา พบว่า มีขยะวัชพืชปกคลุมหนาแน่น และสภาพน้ำเน่าเหม็น จำเป็นต้องบำบัดน้ำเสียในปริมาณค่อนข้างสูง จึงได้แก้ปัญหาด้วยการใช้รถโกยตัก และเรือท้องแบน พร้อมกำลังพลทุกภาคส่วนช่วยกันเก็บขยะและวัชพืชหนาแน่นขนขึ้นฝั่ง หลังจากกำจัดวัชพืชหนาแน่นเสร็จเรียบร้อย ได้ดำเนินการใช้ EM Ball และน้ำหมักชีวภาพ เพื่อปรับคุณภาพน้ำ และช่วงที่ 2 เริ่มจากสะพานประชาสรรค์ ถึง สะพานตลาดน้ำคลองแห สภาพพื้นที่/ปัญหา พบว่า ตื้นเขินจากการทับถมของดินตะกอน แก้ปัญหาด้วยการใช้รถโกยตักประกอบเรือทุ่น และเรือท้องแบนเครื่องติดท้ายพร้อมกำลังจิตอาสาขุดลอกดินตะกอนโคลนเลนและขยะท้องปากคลอง ตักขึ้นสองฝั่ง แผนงานระยะที่ 2 (ระยะกลาง) มุ่งสู่ประสิทธิผลน้ำใส กำหนดในฤดูน้ำแล้ง ซึ่ง ศอ.จอส.พระราชทาน จังหวัดสงขลา ร่วมกับ ศอ.จอส.พระราชทาน พลพัฒนา 4 เทศบาลเมืองคลองแห และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะได้บูรณาการขับเคลื่อนโดยการขุดลอกตะกอนภายในลำคลอง และใช้น้ำดี ไล่น้ำเสีย โดยติดตั้งสถานีสูบน้ำจากคลองอู่ตะเภา บริเวณชุมชนท่าไทรสู่คลองแห ติดตั้งระบบป้องกันขยะลงสู่ลำคลอง รณรงค์ ส่งเสริม และให้ครัวเรือน หรือโครงการบ้านจัดสรรต่างๆ มีระบบบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงแหล่งน้ำ และแผนงานระยะที่ 3 (ระยะยาว) มุ่งสู่การแก้ปัญหาการบำบัดน้ำเสียสู่ความยั่งยืน ซึ่งจังหวัดสงขลาจะได้บูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วน โดยการรวบรวมน้ำเสียจากแหล่งชุมชนเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสีย รวมการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งเพื่อป้องกันการกัดเซาะตลิ่งและการรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ และจะพัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์ให้คลองแหเป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีชีวิตของคนริมน้ำและเชิงวัฒนธรรมต่อไป