ข่าวประชาสัมพันธ์

จากสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย

ข่าวเช้า 11 พฤศจิกายน 2564

มท.1 ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (อขจพ.) เน้นย้ำ “ทีมพี่เลี้ยง และกลไกทุกหน่วยงานในพื้นที่เป็นหัวใจการขับเคลื่อนการขจัดความยากจน ต้องสร้างความเข้าใจ วิเคราะห์ และหาแนวทางแก้ไขปัญหาของประชาชนครัวเรือนเป้าหมายอย่างจริงจังเพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุดและยั่งยืน”

วันนี้ (11 พ.ย. 64) เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมราชบพิธ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (อขจพ.) โดยมี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน คณะอนุกรรมการฯ ผู้แทนส่วนราชการ และผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมประชุม โดย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมประชุมผ่านระบบ ZOOM

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า รัฐบาลมีแนวคิดในการแก้ไขปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (คจพ.) ขึ้น โดยมีโครงสร้างระดับต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับอำนวยการ ปฏิบัติการ และระดับพื้นที่ ซึ่งในการประชุมครั้งที่ผ่านมา ได้มีความเห็นชอบแนวทางการจัดกลไกการขับเคลื่อน รวมถึง คณะอนุกรรมการภายใต้คจพ. จำนวน 2 คณะ ได้แก่ 1) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (อขจพ.) และ 2) คณะอนุกรรมการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (อตจพ.) และได้มีการกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ซึ่งในวันนี้ คณะอนุกรรมการฯ จะได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางในการดำเนินงานเรื่องที่สำคัญ เพื่อเสนอความเห็นให้สามารถขับเคลื่อนการทำงานให้เกิดมรรคผลเป็นรูปธรรม ตอบสนองเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาความยากจนของรัฐบาลได้

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 – 2580 มีเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นบรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญในการขจัดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ รวมถึงการพัฒนาคนทุกช่วงวัย เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี โดยได้มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) และคณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (คจพ.) เพื่อเป็นกลไกเชิงนโยบายในการบูรณาการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาคนทุกช่วงวัย ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน โดยใช้ข้อมูลจากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform : TPMAP) ซึ่งได้มีการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (อขจพ.) จำนวน 3 ท่าน ได้แก่ 1. ดร.นิรันดร์ จงวุฒิเวศย์ อดีตอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน 2. ดร.กมล รอดคล้าย อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และ 3. ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งในปัจจุบันมีกลไกการทำงานศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับจังหวัด โดยจัดตั้งศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัด และกรุงเทพมหานคร (ศจพ.จ. และ ศจพ.กทม.) รวม 77 ศูนย์ ระดับอำเภอ โดยจัดตั้งศูนย์อำนวยการปฏิบัติการฯ อำเภอ และเขตในกรุงเทพมหานคร (ศจพ.อ. และ ศจพ.ข.) รวม 928 ศูนย์ และระดับปฏิบัติการ โดยจัดตั้งทีมปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับพื้นที่ รวม 7,245 ทีม และจะได้จัดตั้งทีมพี่เลี้ยงเพื่อดูแล ติดตามการแก้ปัญหาความยากจนของครัวเรือนอย่างใกล้ชิดต่อไป

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ หลังจากได้รวบรวมและปรับปรุงข้อมูลในระบบ TPMAP สมบูรณ์แล้ว จะทำให้ได้ทราบข้อมูลกลุ่มต่าง ๆ ว่ามีปัจจัยความต้องการและสิ่งที่ต้องเข้าให้การสนับสนุนอย่างไร ซึ่งจะต้องดำเนินการจัดทำแผนงาน/โครงการความต้องการยึดโยงในลักษณะ One plan สอดคล้องทั้งแผนภาค กลุ่มจังหวัด จังหวัด รวมถึงแผนระดับพื้นที่ และแผนปฏิบัติการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ รูปแบบการดำเนินงานที่สำคัญ คือ ต้องบูรณาการทุกส่วนราชการ ทุกกระทรวง ทุกกรม ลงไปพูดคุยแก้ไขปัญหาในพื้นที่ร่วมกันอย่างใกล้ชิด ไปเป็นพี่เลี้ยงให้กับประชาชน ไปแก้ปัญหาให้กับประชาชน สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ (Learning Society) และการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Live Long Learning) เพื่อพัฒนาคนให้หลุดพ้นจากกรอบความยากจนอย่างยั่งยืน และที่ประชุมได้ร่วมพิจารณาเพิ่มเติมเนื้อหาในร่างแนวทางฯ เช่น การรวบรวม ประมวล และหาแนวทางในการช่วยเหลือประชาชนในด้านที่เกี่ยวข้องกับการบริหารของรัฐ เช่น กรณีมีบ้านแต่ไม่มีทะเบียนบ้าน กรณีไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน กรณีมีที่ดินแต่ไม่มีเอกสารสิทธิ เป็นต้น ในเอกสารคู่มือแนวทางการขับเคลื่อนฯ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้มีความสมบูรณ์และครอบคลุมการแก้ไขปัญหาเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ในแง่การเข้าไปให้ความช่วยเหลือและแก้ไขสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ถ้าสามารถขับเคลื่อนด้วยการเคาะประตูบ้านเพื่อตรวจสอบอีกครั้ง (RE X-ray) และระดมสรรพกำลังหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ก็จะเป็นคุณประโยชน์ให้กับประชาชนที่ตกทุกข์ได้ยากและเดือดร้อนอยู่ในขณะนี้

จากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาให้ข้อคิดเห็น และมีมติให้ความเห็นชอบหลักการแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งแนวทางฯ ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นคู่มือการปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ สามารถบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในระดับพื้นที่ เพื่อให้บุคคล/ครัวเรือนเป้าหมายได้รับความช่วยเหลือใน 5 มิติ (สุขภาพ ความเป็นอยู่ การศึกษา รายได้ และการเข้าถึงบริการภาครัฐ) และติดตาม ตรวจสอบ การบันทึกข้อมูลการให้ความช่วยเหลือ มีกลุ่มเป้าหมายคือ บุคคล/ครัวเรือนเป้าหมายจากระบบ TPMAP จำนวน 983,316 คน 568,047 ครัวเรือน กลุ่มคนที่ตกหล่นจากระบบ TPMAP และกลุ่มคนที่ตกหล่นจากข้อมูลประชากรทั้งหมด และกลุ่มคนเปราะบาง ซึ่งจะได้ปรับปรุงร่างแนวทางตามความคิดเห็นของที่ประชุม นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีมติให้ความเห็นชอบร่างเสนอของบประมาณในการดำเนินงานขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย อย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อนำเสนอสำนักงบประมาณ และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาต่อไป

ทีมพี่เลี้ยง ถือเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนการทำงาน เป็นกลไกที่มีความสำคัญที่สุด ต้องทำงานเป็นพี่เลี้ยง เป็นทีมในการช่วยเหลืออย่างจริงจัง โดยต้องลงพื้นที่เข้าไปพูดคุย สร้างความเข้าใจต่อทัศนคติการดำรงชีวิต การทำงาน และร่วมกันศึกษา ค้นหาทักษะ ค้นหาฝีมือแรงงานหรือความถนัดในอาชีพ และร่วมกันวิเคราะห์ ตัดสินใจ หาทางออก แนวทางแก้ไขปัญหาของประชาชน โดยยึดครัวเรือนเป้าหมายเป็นศูนย์กลาง เพื่อสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดและยั่งยืน” พลเอก อนุพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย