ข่าวประชาสัมพันธ์

จากสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย

ข่าวเช้าวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567

มท.1 ปาฐกถาพิเศษ "เศรษฐกิจฐานรากกับการขับเคลื่อนอีสานใหม่"  ย้ำอีสานคือภูมิภาคศักยภาพสูงด้วยธรรมชาติ วัฒนธรรม ภูมิศาสตร์ พร้อมขับเคลื่อนให้เข้มแข็งทั้งด้านท่องเที่ยว การค้า สร้างการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจสังคมได้รวดเร็ว ย้ำมหาดไทยพร้อมเติมเต็มผ่านการสร้างความปลอดภัย ขจัดการเอาเปรียบ สร้างความเข้มแข็งจากฐานราก

วันนี้ (21 ก.พ. 67) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมพีรสิทธิ์ คำนวณศิลป์ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "เศรษฐกิจฐานรากกับการขับเคลื่อนอีสานใหม่ : Mobilizing New Isan for the Future of Thailand" ในวาระครบรอบ 60 ปี การก่อตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายไกรศร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นายสุรพล เพชรวรา อุปนายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น รองศาสตราจารย์นายแพทย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น คณาจารย์ ผู้บริหารองค์กรภาคธุรกิจและประชาสังคม ภาคีเครือข่ายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนักศึกษา ร่วมรับฟัง

นายอนุทิน ได้กล่าวแสดงความยินดีกับอธิการบดี คณาจารย์ นักศึกษา ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในโอกาสที่สถาบันการศึกษาที่สำคัญแห่งนี้ได้รับการก่อตั้งมาเป็นระยะเวลาครบ 60 ปี และได้ประศาสน์ความรู้วิทยาการให้กับผู้คนมากมาย ทำให้ประเทศไทยและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) มีการพัฒนาเป็นอย่างมาก ซึ่งการเข้าสู่ปีที่ 60 ถือว่าอยู่ในช่วงแห่งการพัฒนาต่อยอดจากการได้สั่งสมประสบการณ์ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เพื่อก้าวขึ้นไปด้วยพลังและรากฐานที่สามารถเผชิญกับสถานการณ์และความท้าทายใหม่ ๆ

นายอนุทิน กล่าวว่า ภาคอีสานนับเป็นพื้นที่สำคัญที่สุดของประเทศในเชิงยุทธศาสตร์ มีประชากรเป็นจำนวนมากว่าทุกภาคของประเทศไทย มีพื้นที่กว้างขวาง เป็น 1 ใน 3 ของประเทศ มีทรัพยากรธรรมชาติมากพอในการพัฒนา กอปรทั้งความร่ำรวยทางวัฒนธรรม “คนอีสานซึ่งถือว่าเป็นคนที่มีชีวิตชีวา” เต็มไปด้วยพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ มีความรักในถิ่นฐานบ้านเกิด และมีความปรารถนาดีต่อเพื่อนร่วมชาติ เช่น หนังเรื่องสัปปะเหร่อ ก็มีปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จที่นอกจากความสามารถของทีมงานที่เป็นคนอีสานแล้ว ยังมีกลิ่นอายของวัฒนธรรมทางอีสานที่ชัดเจน ทำให้คนอีสานอยากไปดูหนัง เพื่อแสดงออกถึงการสนับสนุนงานของคนบ้านเดียวกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นต้นทุนทางสังคมที่เข้มแข็ง ถ้าสังคมดี มีความเป็นปึกแผ่น จิตใจของประชาชนในภูมิภาคดี การพัฒนาการต่อยอดก็จะเป็นไปได้ด้วยความมั่นคง

นอกจากนี้ ที่ตั้งของภาคอีสานถือเป็นทำเลสำคัญทางยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในปัจจุบัน เพราะประเทศไทยเป็น Landmark สำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ทางการค้าที่จะเชื่อมโยงการค้าและการท่องเที่ยว สร้างความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่องได้ ประเทศไทยมีศักยภาพในการเชื่อมโยงแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจในภูมิภาค เราต้องคิดว่าประเทศไทยมีต้นทุนที่มากกว่า เช่น ประเทศอื่นเริ่มที่ 0 ประเทศไทยเรา เริ่มที่ 5 ทำให้เราก้าวได้ถึง 10 ที่เร็วกว่า ถึงที่หมายที่เร็วกว่า แปลว่า “ขายของได้ก่อน เก็บเงินได้ก่อน ของเร็วและสดกว่า สร้างรายได้เร็วกว่า” ซึ่งเป็นวิธีการคิดที่เราจะใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนประเทศไทย รวมถึงแนวคิดการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง (Landbridge) ที่จะทำให้ศักยภาพของประเทศไทยเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น

นายอนุทิน  กล่าวเพิ่มเติมว่า การจะขับเคลื่อนให้ภาคอีสานมีความพร้อม ประกอบด้วย การสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจชุมชน การสร้างความแข็งแกร่งด้านเกษตร สร้างการเกษตรวิถีใหม่ เสริมพลังให้กับการท่องเที่ยว และ Soft Power ในท้องถิ่น หากทำเมืองรองให้เป็นเมืองท่องเที่ยวได้ ก็จะเป็นการเสริมความเข้มแข็งให้กับการท่องเที่ยว ยกระดับคุณภาพชีวิต พัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน รวมถึงด้านการสาธารณสุข คุณภาพชีวิตของประชาชน การคมนาคมขนส่ง การส่งเสริมการลงทุน

นอกจากนี้ บทบาทการศึกษา จะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่มาต่อยอด สืบสานยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่องต่อไป การสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจชุมชน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทักษะฝีมือแรงงาน แหล่งท่องเที่ยว เราต้องมีทุนให้กับชุมชน ต้องทำให้ชาวบ้านมีทุนที่จะเริ่มสร้างกิจการ สร้างรายได้ ทำให้ชาวบ้านเป็นหนี้ให้น้อยที่สุด โดยเริ่มจากการกำจัดหนี้นอกระบบและทำให้สถาบันการเงินของรัฐมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ เพื่อสร้างแหล่งทุนหนุนเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจฐานรากมีความสำคัญ

“สุดท้าย สิ่งที่เรามีโดยธรรมชาติ คือ วัฒนธรรมที่จะสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน โดยมีการท่องเที่ยว เป็นตัวสนับสนุนพื้นฐานเศรษฐกิจให้แข็งแกร่ง ซึ่ง “วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว” เรามีความเป็นเลิศ โดดเด่น เพราะวัฒนธรรมคือความสวยงาม รวมถึงเทคโนโลยี องค์ความรู้ พื้นบ้าน วิชาการ สามารถต่อยอดได้ทุกทาง ดังนั้น หน้าที่ของเรา คือ ต้องร่วมกันสร้างความปลอดภัยและขจัดการเอารัดเอาเปรียบให้กับประชาชน โดยรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยพร้อมเต็มที่ที่จะสนับสนุนและก้าวเดินไปด้วยกันให้ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของเศรษฐกิจฐานรากตลอดจนเศรษฐกิจมวลรวมในระดับภาค อันจะทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตลอดจนถึงการส่งเสริมให้เกิดการใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม การแก้ไขสภาวะโลกร้อน การผลิตสินค้าภายใต้กรอบการลดโลกร้อน การใช้พลังงานจากธรรมชาติ และการปล่อยมลพิษและก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ให้น้อยที่สุด เพื่อยังผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเราจะได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ประเทศไทยยืนอยู่บนเวทีโลกได้ และเป็นการรักษาโลกใบเดียวนี้ให้คงอยู่อย่างยั่งยืน” นายอนุทิน กล่าว

#WorldSoilDay #วันดินโลก 
#UN #FAO #GlobalSoilPartnership #MOI 
#กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข
#SoilandWaterasourceoflife 
#SustainableSoilandWaterforbetterlife
#ดินดีน้ำดีชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน  
#SDGsforAll #ChangeforGood

กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 262/2567
วันที่ 21 ก.พ. 2567