ข่าวประชาสัมพันธ์

จากสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย

ข่าวเช้า 8 พฤศจิกายน 2564

มท.1 ปาฐกถาพิเศษเนื่องในวันผังเมืองโลก 2564 เน้นย้ำ ต้องออกแบบเมืองให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตและรับมือได้กับภัยพิบัติต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อประชาชนใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข ประเทศชาติพัฒนาอย่างยั่งยืน

วันนี้ (8 พ.ย. 64) ที่ห้องประชุมดำรงธรรม ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาทางวิชาการเนื่องในวันผังเมืองโลก (World Town Planning Day) เรื่อง RESILIENT & RECOVERY CITIES : ขับเคลื่อนเมืองสู่ความสุข ในยุคโควิด-19 ผ่านระบบการประชุมอิเล็กทรอนิกส์ ทางเว็บไซต์ https://www.worldtownplanningday.com

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า การสัมมนาฯ ในครั้งนี้ จัดขึ้นโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาวะของประชาชน ทุกองค์กรจะต้องปรับตัว ทั้งในการใช้ชีวิต และการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้เป็นไปในรูปแบบ New Normal รวมถึงการออกแบบและขับเคลื่อนงานด้านผังเมือง ต้องมีความยืดหยุ่น สามารถตอบโจทย์ทั้งในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความเข้มแข็ง ดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติ ปลอดภัย และมีความสุข ซึ่งภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบันที่ยังคงอยู่ เรามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับเปลี่ยนแนวความคิดในการวางผังเมืองและการพัฒนาเมืองให้ต่างไปจากเดิม เมืองซึ่งเคยมีบทบาทเป็นศูนย์กลางความเจริญ ทั้งทางด้านกายภาพ การตั้งถิ่นฐาน สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ เป็นที่รวมของประชากรจำนวนมาก เป็นศูนย์กลางทางธุรกิจ การจ้างงาน เป็นศูนย์รวมของระบบการคมนาคมขนส่งที่เป็นโครงสร้างหลักในการเคลื่อนย้ายผู้คนในเมือง โดยเฉพาะการขนส่งสาธารณะรูปแบบต่าง ๆ ที่มีจำนวนผู้ใช้บริการจำนวนมาก มีความแออัด เช่น รถไฟฟ้า รถโดยสารประจำทาง เรือโดยสาร และอื่น ๆ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตในรูปแบบ New Normal เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีหัวใจสำคัญข้อหนึ่ง คือ การเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดการพัฒนาให้สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าวด้วย เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องการติดต่อสื่อสาร การเชื่อมโยงผู้คนให้ติดต่อสื่อสารกัน เพื่อรองรับกิจกรรมในด้านเศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข การทำงานประกอบอาชีพ เป็นการใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ ลดการเดินทาง การติดต่อพบปะกัน แต่สามารถที่จะดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านระบบได้อย่างง่ายและมีประสิทธิภาพ

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นอกจากนี้ ต้องพัฒนาออกแบบเส้นทางคมนาคมขนส่งให้มีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น ให้มีความคล่องตัวในการเดินทาง ก็จะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดความแออัดของคนในระบบขนส่งสาธารณะ อาจมีการปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มเส้นทางที่สามารถเดินทางคนเดียวได้ เช่น การพัฒนาเส้นทางจักรยานและจักรยานยนต์เพิ่มมากขึ้น ให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทาง ก็จะเป็นแรงจูงใจให้คนหันมาใช้มากขึ้น รวมไปถึงในการกำหนดแนวคิดการพัฒนาและการวางผังเมืองที่น่าจะเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในยุคโควิด-19 อาจจะต้องคิดถึงการออกแบบและวางผังเมืองที่จะทำให้ผู้คนสามารถที่จะเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางเพื่อไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ในชีวิตประจำวัน ทั้งกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจ การทำงาน ประกอบอาชีพ การเข้าถึงบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ การจับจ่ายซื้อของเพื่อการดำรงชีวิต ที่ควรใช้ระยะเวลาในการเดินทางไม่มากนัก และจำเป็นต้องปรับแนวทางการออกแบบเมืองให้มีความยืดหยุ่น สามารถปรับตัวและรองรับความเสี่ยงจากสาธารณภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ได้อีกด้วย

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การสัมมนาฯ ในครั้งนี้ จะมีส่วนทำให้เราจะได้เห็นการออกแบบเมืองปรับเปลี่ยนไปจากเดิม ครอบคลุมและสอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของประชาชน เป็นเมืองที่สามารถปรับตัวและรับมือได้กับภัยพิบัติต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ประชาชนใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข ประเทศชาติพัฒนาอย่างยั่งยืน