ข่าวประชาสัมพันธ์

จากสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย

ข่าวเช้าวันที่ 5 มกราคม 2567

มท.1 ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาระบบบริการโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 72 พรรษา
.
วันนี้ (5 ม.ค. 67) เวลา 15.00 น. ที่ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาระบบบริการโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 72 พรรษา ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กับ มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรีและประธานคณะกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นางศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ร่วมลงนาม โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายแพทย์วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช และศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงฯ 
.
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ จะทำให้เกิดการพัฒนาระบบบริการโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ เพิ่มความปลอดภัย ลดการเสียชีวิต และลดภาวะทุพพลภาพ โดยการจัดบริการทางด่วนโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke Fast Track) การให้ยาละลายลิ่มเลือด (rt-PA) ภายใน 4.5 ชั่วโมง หลังเกิดอาการ บริการใส่สายสวนหลอดเลือดสมอง (Mechanical Thrombectomy) รวมถึงได้รับการดูแลรักษาตามมาตรฐานที่หน่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke Unit) และบูรณาการการดูแลรักษาเพื่อยกระดับบริการให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้รับการรักษาแบบเชิงรุก เร่งด่วนฉุกเฉิน โดยการจัดบริการรถวินิจฉัยและรักษาภาวะวิกฤตทางหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่ (Mobile Stroke Unit (MSU)) เพื่อตรวจวินิจฉัย ด้วยการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT Scan) และได้รับยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ (rt-PA) รวมทั้งต้องการยกระดับการบริการของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ในการจัดบริการด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 72 พรรษา ในฐานะองค์นายกกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช โดยพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชให้เป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะต้นแบบ เป็นโรงพยาบาลเพื่อประชาชนที่คำนึงถึงคุณภาพและความต้องการของประชาชน โดยมีการจัดบริการในภาพเครือข่ายเขตสุขภาพที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการด้านโรคหลอดเลือดสมองที่ได้มาตรฐาน ลดอัตราความพิการและอัตราการตายจากโรคหลอดเลือดสมอง และส่งเสริมการใช้ทรัพยากรร่วมกันของเขตสุขภาพ และนับเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ในวันนี้หน่วยงานทั้ง 6 หน่วยงาน จะได้บูรณาการความร่วมมือร่วมกันอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่มีนโยบายเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน ด้วยการสร้างและพัฒนาระบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
.
“สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในครั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยมีความยินดียิ่งที่จะได้ร่วมพัฒนาระบบบริการโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 72 พรรษา โดยกระทรวงมหาดไทยและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเร่งดำเนินงานเชิงรุกในการทำหน้าที่ สนับสนุนการให้บริการรถวินิจฉัยและรักษาภาวะวิกฤตทางหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่ (Mobile Stroke Unit (MSU)) ในระดับพื้นที่ที่จัดบริการและระบบส่งต่อฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการการรักษาภายในระยะเวลาที่เหมาะสม เกิดประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุด รวมถึงสนับสนุนงบประมาณสำหรับการจัดซื้อรถวินิจฉัยและรักษาภาวะวิกฤตทางหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่ (Mobile Stroke Unit (MSU))” นายอนุทินฯ กล่าวในตอนท้าย

กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 13/2567
วันที่ 5 ม.ค. 2567