ข่าวประชาสัมพันธ์

จากสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย

ข่าวเช้า 5 พฤศจิกายน 2564

มท.1 มอบนโยบายผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ เน้นย้ำ “ผู้ว่าฯ ต้องยึดหลักธรรมาภิบาล อุทิศกาย อุทิศเวลา ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนงานสนองตอบความต้องการและความคาดหวังของประชาชน”

วันนี้ (5 พ.ย. 64) เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมราชบพิธ อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนและติดตามนโยบายและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย โดยมี นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกรุงเทพมหานคร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยมีนโยบายในการประชุมติดตามขับเคลื่อนการทำงานของกระทรวงมหาดไทย จังหวัดทุกจังหวัด และกรุงเทพมหานคร เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนการดำเนินงานตามนโยบาย เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยหลัก “ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง” ทำงานโดยยึดหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) ปฏิบัติราชการตามอำนาจหน้าที่ สั่งการ กำชับ หน่วยงานในสังกัดและกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เกิดความโปร่งใส และติดตามผลการปฏิบัติของหน่วยงานให้เป็นไปตามกฎหมายและนโยบาย ทั้งนี้ ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นตำแหน่งที่มีความเป็นสาธารณะ ที่ประชาชนและหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาคนักวิชาการ NGOs และสื่อมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้แทนของประชาชนระดับต่าง ๆ ทั้งสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถเข้าถึง เข้าพบ เข้าหารือ อยู่เสมอ ดังนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องอุทิศกาย อุทิศเวลา ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อให้การขับเคลื่อนงานสนองตอบความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

จากนั้น พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มอบนโยบายและหารือข้อราชการสำคัญ ได้แก่ 1) ด้านการปกป้องและเทิดทูนสถาบันหลักของชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องบูรณาการงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เสริมสร้างความเข้าใจกับประชาชน ในการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนโครงการตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง 2) ด้านความสะอาดและสวยงามของพื้นที่ ต้องบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ดำเนินการให้บ้านเมืองมีความสะอาด สวยงาม กำหนดมาตรการที่ทำให้ประชาชนทิ้งขยะอย่างถูกสุขลักษณะตามหลักวิชาการ และกำกับ กำชับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บริหารจัดการขยะ ทั้งด้านการจัดพื้นที่ทิ้งขยะ และการจัดเก็บขยะ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย 3) การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ให้สอดคล้องเชื่อมโยงแผนทุกระดับ 4) การบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต้องรณรงค์ให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค Universal Prevention อย่างสูงสุด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในช่วงการผ่อนคลายมาตรการ รวมไปถึงเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรการปลอดภัยองค์กร (COVID-Free Setting) ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและเข้มงวด และบริหารจัดการวัคซีนให้ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ เข้าถึงตามหลักเกณฑ์ที่ ศบค. กำหนด นอกจากนี้ ในด้านมาตรการชายแดน ให้เร่งพิจารณาการเปิดด่านเพื่อประโยชน์ทางการค้าขาย เพื่อให้เศรษฐกิจเดินไปได้ ควบคู่กับการเฝ้าระวังการลักลอบเดินทางเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย โดยใช้กลไกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตำรวจ ทหาร และประชาชน เฝ้าระวัง ตรวจตรา เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 5) ด้านการป้องกันและแก้ไขการค้ามนุษย์ ต้องบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวัง ตรวจสอบ ตรวจตรา อย่างเข้มข้น  6) ด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติด ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (ผอ.รมน.จังหวัด) ต้องสั่งการหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ สกัดกั้นการแพร่ระบาดของยาเสพติด เพื่อลด Supply Side ของยาเสพติด และในด้านการลดผู้เสพผู้ติดยาเสพติด (Demand side) ต้องบูรณาการหน่วยงานทั้งภาคการศึกษา ด้านสังคม ร่วมกันเสริมสร้างความเข้าใจและเครือข่ายในการป้องกันการเสพยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง 7) การป้องกันการพนันออนไลน์ โดยใช้มาตรการทางสังคม ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คนในชุมชน และครอบครัว ดูแลเด็กและเยาวชนให้ห่างไกลจากการพนันออนไลน์ 8) การขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ขณะนี้มีโครงสร้าง มีคณะกรรมการทั้งระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล แล้ว จึงขอให้จังหวัดดำเนินการจัดทำข้อมูลในระบบ TPMAP ให้แล้วเสร็จภายใน 31 ธ.ค. 64 เพื่อดำเนินการสำรวจข้อมูลให้เป็นปัจจุบันต่อไป 9) การเตรียมความพร้อมการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ให้สนับสนุนการจัดการเลือกตั้งตามอำนาจหน้าที่ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดและขอความร่วมมือ 10) การบูรณาการแก้ไขปัญหาผักตบชวา ต้องขับเคลื่อนให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ทั้งการเก็บเล็ก เก็บใหญ่ การมีส่วนร่วมของชุมชน เป็นต้น 11) การบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ กำหนดมาตรการในการกำจัดขยะให้เป็นไปตามหลักวิชาการ อาทิ การรวมกลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการกำจัดขยะ การแก้ไขปัญหาขยะบนเกาะ และการกำจัดขยะติดเชื้อตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งการรณรงค์ประชาชนร่วมกันบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ตามหลัก 3ช คือ ใช้น้อย ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ 12) การวางและจัดทำผังเมือง ต้องดำเนินการให้มีระบบการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดินและผังเมืองผ่านระบบดิจิทัล เพื่อลดการเดินทางของประชาชนในการติดต่อที่สำนักงาน 13) การจัดทำระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ให้ดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลให้แล้วเสร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการพิสูจน์ตัวตนด้วยใบหน้าบนฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนไม่ต้องใช้บัตรประชาชนในอนาคต 14) การบริหารจัดการสาธารณภัย ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ดำเนินการประเมินเพื่อลดความเสี่ยงจากผลกระทบจากสาธารณภัย และดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุ ทั้งการเตรียมการ แจ้งเตือน ดูแลช่วยเหลือ และการเยียวยาประชาชน 15) การฟื้นฟูและเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย ขอให้เร่งบูรณาการทหาร อาชีวศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือเยียวยาประชาชนให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข 16) ด้านการขยายเขตไฟฟ้า ให้สร้างการรับรู้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง 17) การนำสายไฟฟ้าลงดิน ขอให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค รวมทั้งจัดระเบียบสายสื่อสารให้เป็นระเบียบเรียบร้อย  18) ด้านการจัดการประปาหมู่บ้าน/ท้องถิ่น ต้องพัฒนาน้ำประปาหมู่บ้านให้สะอาด และแก้ปัญหาแล้งซ้ำซาก ให้มีแหล่งน้ำให้เพียงพอ 19) การประปาส่วนภูมิภาค ขอให้ดำเนินการขยายเขตให้บริการน้ำประปา และเตรียมการรับมือสถานการณ์ภัยแล้งให้มีน้ำเพียงพอ 20) การแก้ปัญหาภาวะน้ำประปาเค็ม ให้เตรียมการแก้ไขปัญหาดังกล่าวรวมทั้งสร้างการรับรู้กับประชาชน 21) การแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียคลองแม่ข่า จ.เชียงใหม่ ด้วยการสร้างความตระหนักให้ประชาชน และผู้ประกอบการในการร่วมกันดูแลรักษาคลองแม่ข่า ไม่ทิ้งขยะ ไม่ปล่อยน้ำเสียลงสู่ลำน้ำ ติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียในครัวเรือน และร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด

นายนิพนธ์  บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในขณะนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณ อยู่ระหว่างการหารือส่วนราชการและจังหวัด เพื่อเตรียมการจัดทำร่างคำของบประมาณ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งแผนพัฒนาจังหวัดเป็นเรื่องสำคัญที่ใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดเตรียมการจัดทำงบประมาณปี 2566 โดยเฉพาะงบจังหวัดและกลุ่มจังหวัดต้องตอบสนองยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด นอกจากนี้ ในด้านการสำรวจและขึ้นทะเบียนที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย หนังสือสำคัญด้านที่ดิน ของประชาชน ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด กำกับ ติดตาม เพื่อแก้ปัญหาด้านที่ดินทำกินให้ประชาชน ตามกฎหมาย และในด้านความปลอดภัยทางถนน ให้ใช้กลไกศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด (ศปถ. จังหวัด) และ ศปถ. ทุกระดับ กำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรณรงค์และสร้างความตระหนักประชาชนในการป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะการสวมหมวกกันน็อค การป้องกันเมาแล้วขับ รายงานสถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุทุก 3 เดือน รวมทั้งต้องมีมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการเกิดหมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) และถอดบทเรียนการรับมือมรสุมที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ทำทางให้น้ำไหล ทำที่ให้น้ำอยู่ เก็บที่ไว้ใช้ตอนน้ำแล้ง เพื่อลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และกำชับ เข้มงวดกวดขันการเล่นพนันออนไลน์ด้วย

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้ขับเคลื่อนดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทยอย่างต่อเนื่อง และขอให้ได้ติดตามการทำงาน ให้กำลังใจ และร่วมกับนายอำเภอ ปลัดอำเภอ รวมถึงข้าราชการทุกระดับในพื้นที่ ขับเคลื่อนการทำงานเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สนองตอบความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ สร้างความสุขให้ประชาชน อย่างยั่งยืน