ข่าวประชาสัมพันธ์

จากสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย

ข่าวเช้าวันที่ 18 ธันวาคม 2566

มท.1 ร่วมเสวนา Traffic Forward ขับเคลื่อนจราจรไทยไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน รวดเร็ว ปลอดภัย เข้าใจ ไปด้วยกัน เน้นย้ำ "พลังในการขับเคลื่อนภารกิจต่าง ๆ ร่วมกัน" จะเป็นเกราะคุ้มกันสังคม และทำให้คนที่คิดทำสิ่งไม่ดี กลับใจมาร่วมกันทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคม พร้อมทั้งร่วมกันเปลี่ยนทำให้ "7 วันอันตราย" เป็น "7 วันแห่งความปลอดภัย"

วันนี้ (18 ธ.ค. 66) เวลา 12.00 น. ที่ห้องประชุมยอดสุข อาคารศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรและสวัสดิการตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมเสวนาโครงการขับเคลื่อนจราจรไทยไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน Traffic Forward รวดเร็ว ปลอดภัย เข้าใจ ไปด้วยกัน ในหัวข้อ "ความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรุงเทพมหานคร" โดยมี นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  นายภานุมาศ ทองชะนะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม นักวิจัยอาวุโส ผู้อำนวยการหน่วย บริการดิจิทัลสำหรับเมือง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ พลตำรวจเอก อัษฎางค์ ม่วงศรี รองผู้บังคับการกองตำรวจสื่อสาร สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายอภิรักษ์ วัฒนภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โกลบอล เซอร์วิส เซ็นเตอร์ พันตำรวจเอก เกรียงศักดิ์ ธีรศรัณยานนท์ หัวหน้าชุดบังคับอากาศยาน ฝ่ายปฏิบัติการส่วนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสื่อมวลชน ร่วมในงาน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นช่วงเวลาที่หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานร่วมมือบูรณาการทำงานได้อย่างเห็นได้ชัดมากที่สุด เพราะเราทุกคนคิดว่าประโยชน์สูงสุดในการดูแลพี่น้องประชาชนและบ้านเมือง คือ เป้าหมายของเรา  โดยมีผลงานสูงสุด คือ การตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชน ซึ่งขณะนี้กระทรวงมหาดไทยกำลังมุ่งเน้นในการจัดระเบียบสังคม การตรวจตราสถานบริการ การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยเราได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ร่วมกันลงพื้นที่ไปตรวจตรา รวมถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ฝ่ายตำรวจ ผู้อำนวยการเขต จึงทำให้เห็นถึง "พลังในการขับเคลื่อนภารกิจต่าง ๆ" ทำให้คนคิดที่จะทำสิ่งไม่ดี หรือผิดกฎหมายได้เห็นภาพแล้วเกิดความหวั่นเกรง และเกรงกลัวต่อกฎหมาย แล้วกลับไกลมาทำสิ่งที่ดีในสังคม

"หากเราทำงานร่วมมือกัน ในทุกเรื่อง ทุกโอกาส อาทิ ช่วงเทศกาลปีใหม่ เรื่องการสัญจร รวมไปถึงรถบรรทุกหนักเกิน การขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด รวมถึงการดื่มแล้วขับ เพื่อป้องกันสิ่งไม่ดีเหล่านี้ พวกเราจึงต้องมาบูรณาการร่วมมือกัน โดยใช้องคาพยพหรือภาคีเครือข่ายทุกหน่วยงานมาร่วมกัน เพื่อช่วยกันรณรงค์ไม่ให้มีสิ่งที่เรียกว่า "สารตั้งต้นในการเกิดอุบัติเหตุ" นั่นคือ " ดื่มแล้วขับ" จากสถิติของกรมควบคุมโรค พบว่าอุบัติเหตุทางถนน กว่า 90% มาจากการเมาสุราแล้วขับขี่ยวดยานพาหนะ ซึ่งที่ผ่านมาเราได้มีการรณรงค์การ "เมาไม่ขับ" แต่ปัจจุบันนี้ต้องบอกว่ามันไม่เพียงพอ เพราะคนเมาไม่รู้ว่าตัวเองเมา เราต้องช่วยกันรณรงค์ใหม่ว่า "ดื่มไม่ขับ" โดยต้องกำหนดมาตรการใหม่ให้เข้มงวดยิ่งขึ้น เช่น หากมีการตั้งด่านตรวจผู้ขับขี่รถทุกชนิดจะต้องไม่มีแอลกอฮอล์เลย จะทำให้ช่วยลดอุบัติเหตุทางถนนได้ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีการสั่งการให้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ มาบูรณาการร่วมกันในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อจะได้แก้ปัญหาได้อย่างทันที" นายอนุทินฯ กล่าวในช่วงต้น

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อไปอีกว่า แม้ว่าหลายปีที่ผ่านมายอดอุบัติเหตุจะลดลง แต่ยอดผู้เสียชีวิตยังเท่าเดิม เราต้องเข้าใจร่วมกันว่าขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ลดลงไปแล้ว ทำให้ประชาชนมีการสัญจร มีการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาหลายเท่าตัว แม้ว่าตัวเลขสถิติจะลดลงจะเป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่สำคัญอยู่ที่ผู้บังคับใช้กฎหมายว่าจะทำอย่างไรให้ลดการเกิดอุบัติเหตุ โดยให้ความสำคัญกับสารตั้งต้น คือ "ดื่มแล้วขับ" จึงต้องช่วยกันจากความร่วมมือของภาคีเครือข่าย ซึ่งจะเป็นพลังในการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการเปิดสถานบริการที่ไม่ได้รับอนุญาต หากพวกเราทำได้จะเป็นการตีกรอบในการลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุของพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ ดังนั้น พวกเรามีหน้าที่รักษากฎหมายป้องกันไม่ให้สิ่งเลวร้ายเกิดขึ้น ด้วยอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ตามกฎหมาย ตนซึ่งเชื่อว่าความร่วมมือการบูรณาการร่วมกันก็จะทำให้เกิดความสำเร็จ และหากเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและบ้านเมือง เราไม่ลังเลที่จะทำ ทั้งนี้ ในส่วนของ "7 วันอันตราย" ต่อไปนี้ตนอยากให้เป็น  "7 วันแห่งความปลอดภัย" ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้รณรงค์ในหัวข้อ "ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ" หากเราบังคับใช้กฎหมายได้อย่างเต็มที่ คดีการเกิดอุบัติเหตุหรือเสียชีวิตจะต้องดีขึ้นอย่างแน่นอน และหากเราเห็นผลลัพธ์ที่ดีขึ้นก็จะได้มีแนวทางบูรณาการความร่วมมือได้มากกว่านี้ยิ่งขึ้นไป

พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า การบูรณาการระหว่างผู้กำกับการสถานีตำรวจ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ  รวมไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย ร่วมกันในการขับเคลื่อนในพื้นที่จังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ตลอดจนทุกพื้นที่ ซึ่งเป็นการบูรณาการร่วมมือกันตามที่ท่านรัฐมนตรีมหาดไทยได้สั่งการให้ทุกจังหวัดได้ทำงานบูรณาการร่วมกัน โดยเฉพาะเรื่องการจัดระเบียบสังคม การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด นับเป็นความร่วมมือที่แสดงให้เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้เราได้ต่อยอดมาตรการความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทย โดยยกระดับมาตรการให้เข้มข้นเป็นขั้นบันได พร้อมบูรณาการร่วมกันระหว่างผู้กำกับการสถานีตำรวจ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทุกภาคส่วน ซึ่งวันนี้ก็เป็นการตอกย้ำและยืนยันให้ทุกคนได้เห็นภาพชัด ว่าเราจะไม่ทำงานแบบไซโล แต่เราจะทำงานแบบบูรณาการ และตามที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยย้ำว่า "เราไม่ได้ให้ความสำคัญแค่ตัวเลข แต่เราให้ความสำคัญกับการยกระดับมาตรการความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชน" ตนเชื่อว่าการร่วมมือกันครั้งนี้และต่อไปจะทำให้พี่น้องประชาชนสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัย

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กฎหมายมีความเกี่ยวข้องกับทุกคนและทุกหน่วยงาน จึงต้องอาศัยความร่วมมือกันในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการร่วมมือกันอย่างดีในการสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน อย่างไรก็ตามเราต้องมีการร่วมกันวางแผนระยะยาว และมีมาตราการร่วมกันไปในแนวทิศทางเดียวกัน เช่น พัฒนาจุดเสี่ยงหรือทางม้าลาย การติดตั้ง CCTV การติดตั้งแสงสว่าง ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการร่วมมือกันวางแผนระยะยาว ปัจจุบันเป็นองค์กรภาครัฐสมัยใหม่จะต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลกัน รวมถึงใช้เทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสร้างการมีจิตสำนึกของประชาชน ให้มาป้องกันอุบัติเหตุ เช่นการสวมหมวกนิรภัย ซึ่งทั้งหมดความร่วมมือกันจะเป็นสิ่งสำคัญ และปัจจุบันเราก็ได้ดำเนินการ มาตรการอย่างเข้มงวด เอาจริงเอาจัง และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด 

กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1,169/2566
วันที่ 18 ธ.ค. 2566