ข่าวประชาสัมพันธ์

จากสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย

ข่าวเช้าวันที่ 15 ธันวาคม 2566

มท.1 ร่วมรื้อเสาไฟฟ้าต้นสุดท้ายแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว งาน "MEA ส่งมอบของขวัญปีใหม่ 2567" โครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน "เนรมิตพหลโยธิน ถนนสวยไร้เสาสาย" มุ่งมั่นปรับปรุงส่งเสริมภูมิทัศน์เมือง กทม. ให้สวยงาม ประชาชนมีความปลอดภัย เสริมสร้างความมั่นคงและเศรษฐกิจของประเทศ

วันนี้ (15 ธ.ค. 66) เวลา 10.30 น. ที่จ๊อดแฟร์ แดนเนรมิต ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานงาน "MEA ส่งมอบของขวัญปีใหม่ 2567" โครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน "เนรมิตพหลโยธิน ถนนสวยไร้เสาสาย" โดยนายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (MEA) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารการไฟฟ้านครหลวง พนักงาน และเจ้าหน้าที่ ร่วมให้การต้อนรับ โดยมี นายสมเจตน์ ลิมปะพันธุ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าการกรุงเทพมหานคร นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พล.ต.ต.พัลลภ แอร่มหล้า รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. นายสืบพงษ์ มะลิวัลย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มขายและปฏิบัติการลูกต้ากรุงเทพชั้นใน บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สื่อมวลชน ร่วมในงาน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้เป็นวันที่น่ายินดียิ่งที่เราจะได้ส่งมอบพื้นที่สวย ๆ ภูมิทัศน์ที่ดีที่มีการเปลี่ยนระบบการจ่ายไฟจากระบบสายอากาศเป็นระบบสายใต้ดิน ซึ่งโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินเป็นหนึ่งโครงกรสำคัญในนโยบาย 10 ด้านของกระทรวงมหาดไทย คือ ด้านการอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยว เพราะโครงการสายใต้ดินนี้ นอกจากเพิ่มความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชนแล้ว ยังส่งเสริมสภาพภูมิทัศน์ในเมืองให้สวยงามอีกด้วย โดยที่ผ่านมาเราได้ดำเนินการแล้วล้วนเป็นพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เช่น ถนนราชดำเนิน ถนนราชวิถี ถนนราชดำริ ถนนศรีอยุธยา เป็นต้น ดังนั้น โครงการนี้นับได้ว่าเป็นภารกิจสำคัญของการไฟฟ้านครหลวงที่มีส่วนช่วยให้นโยบายสำคัญของกระทรวงบรรลุวัตถุประสงค์เป็นประโยชน์แก่ประชาชน และภาพรวมของประเทศเป็นอย่างมาก

"ขอแสดงความชื่นชมและขอบคุณการไฟฟ้านครหลวง กรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงาน กสทช. และ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่ได้ประสานการทำงานร่วมกันจนทำให้การดำเนินโครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินสำเร็จได้ตามแผนงานที่กำหนด ซึ่งเราจะได้ร่วมกันพุ่งเป้าขับเคลื่อนและต่อยอดไปสู่การร่วมกันพัฒนาระบบสาธารณูปโภคอื่น ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนให้ดียิ่งขึ้นตลอดไป" นายอนุทินฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า การไฟฟ้านครหลวง (MEA) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบไฟฟ้า ให้สามารถรองรับปริมาณความต้องการของประชาชน ทั้งในกรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยได้อย่างเพียงพอ และให้มีความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ปรับภูมิทัศน์ให้มีความสวยงาม และมีความปลอดภัยต่อประชาชนรองรับความเป็นมหานครแห่งอาเซียน (ASEAN) ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย โดยแผนการด้านการดำเนินงานระบบจำหน่ายที่สำคัญคือการจัดทำแผนการนำสายไฟฟ้าอากาศลงใต้ดิน ซึ่งปัจจุบันมีระยะทางดำเนินโครงการทั้งสิ้น 313.5 กิโลเมตร มีเป้าหมายก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในปี 2572 โดยขณะนี้สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จ รวม 62 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่สำคัญในถนนต่าง ๆ เช่น ถนนสีลม ถนนสุขุมวิท ถนนพหลโยธิน ถนนพญาไท ถนนพระราม 1 ถนนราชดำริ ถนนราชวิถี ถนนราชปรารภ ถนนศรีอยุธยา ถนนสวรรคโลก ถนนสาธุประดิษฐ์ และถนนสว่างอารมณ์ เป็นต้น ขณะเดียวกันมีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 251.5 กิโลเมตร เช่น โครงการพระราม 3 โครงการรัชดาภิเษก และโครงการก่อสร้างตามแนวรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ โดย MEA คาดว่า ภายในสิ้นปี 2566 จะมีระยะทางที่ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเพิ่มขึ้นอีก 29.2 กิโลเมตร ทำให้มีระยะทางสายใต้ดินสะสมรวมทั้งสิ้น 91.2 กิโลเมตร

"นอกจากนี้ การไฟฟ้านครหลวง (MEA) ยังได้นำเสาไฟฟ้าที่รื้อถอนไปใช้ในโครงการปรับปรุงและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศ ป่าชายเลนและการทำแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง MEA’s Model อย่างต่อเนื่อง ณ ป้อมพระจุลจอมเกล้า ฐานทัพเรือกรุงเทพ จ.สมุทรปราการ และบริเวณชายฝั่งทะเลกรุงเทพฯ เขตบางขุนเทียน ช่วยเพิ่มการสะสมของตะกอนหลังเขื่อน ส่งผลให้ต้นกล้าและลูกไม้ ประเภทไม้โกงกาง รวมถึง พรรณไม้น้ำต่าง ๆ ที่อยู่หลังแนวป้องกันมีปริมาณหนาแน่นขึ้น และช่วยให้สัตว์น้ำนานาพันธุ์และนกนานาชนิด มีแนวโน้มการอยู่รอดเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของโครงการสายไฟฟ้าใต้ดินอย่างมาก ซึ่ง MEA ได้ร่วมวางแผนการดำเนินงานร่วมกับ กทม. และ สตช. เพื่อลดผลกระทบทั้งในด้านแผนงานการก่อสร้างที่ไม่ซ้ำซ้อน ตลอดจนการดำเนินงานในช่วงวันหยุดเพื่อจำกัดผลกระทบการจราจรให้เหลือน้อยที่สุด โดยทั้งหมดยังคงอยู่บนมาตรการความปลอดภัยที่ MEA กำหนด นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับ NT และสำนักงาน กสทช. ร่วมนำสายสื่อสารลงใต้ดิน โดยการประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการสายสื่อสารร่วมดำเนินภารกิจดังกล่าวโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับทั้งระบบไฟฟ้า และระบบโทรคมนาคมที่มั่นคง ตลอดจนสร้างทัศนียภาพที่สวยงามให้กับเมืองมหานครของเรา" นายวิลาศ ฯ กล่าวเพิ่มเติม

#กระทรวงมหาดไทย
#บำบัดทุกข์บำรุงสุข
#MOI

กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1,155/2566
วันที่ 15 ธ.ค. 2566