ข่าวประชาสัมพันธ์

จากสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย

ข่าวเช้า 31 ตุลาคม 2564

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานเหรียญพระสาทิสลักษณ์เป็นรางวัล “สุดยอดผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ต่อยอดภูมิปัญญาหัตถกรรม ยกระดับผ้าไทยสู่สากล เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน

มื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จทอดพระเนตรการแสดงแบบผ้าเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวลี นารีรัตนราชกัญญา โดยมี รองศาสตราจารย์ นราพร จันทร์โอชา ภรรยานายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา คณะรัฐมนตรี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ดร.ศศิธร จันทมฤก ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน คณะกรรมการประกวดผ้าลายพระราชทาน คณะผู้บริหาร ข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน และแขกผู้มีเกียรติทุกท่านร่วมรับเสด็จฯ ณ ห้องทรูไอคอนฮอลล์ ชั้น 7 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร โดยเน้นย้ำมาตรการป้องกันของเชื้อไวรัสโควิด-19 การเว้นระยะห่างระหว่างกัน สวมหน้ากากอนามัย ตรวจวัดอุณหภูมิอย่างเคร่งครัด

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้พระราชทานแบบลายผ้า แก่ช่างทอผ้า ชื่อลาย “ผ้าลายขอเจ้าฟ้า สิริวัณณวรีฯ” ด้วยพระดำริที่ชัดเจนในการสืบสาน รักษา และต่อยอด ตามพระราชปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาหัตถกรรมไทย ให้ดำรงอยู่ยั่งยืนตลอดไป อีกทั้งยังได้พระราชทานแนวพระดำริ “ผ้าไทย ใส่ให้สนุก” คือความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปหัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับเข้าสู่ชุมชน เป็นวงจรเศรษฐกิจเชิงมหภาค อันเป็นการกระตุ้นการสวมใส่ผ้าไทย ที่สามารถสวมใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย และทุกโอกาส ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้น้อมนำแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” มาดำเนินการในทุกระดับ ทั้งในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับผู้ประกอบการและช่างทอผ้าในชุมชน มีรายได้เลี้ยงครอบครัว ซึ่งพบว่าตั้งแต่เดือนมกราคม – ตุลาคม 2564 มียอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าไทย กว่า 6,800 ล้านบาท และมียอดจำหน่ายผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ กว่า 350 ล้านบาท ส่งผลให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากกว่า 100,000 คน

ด้านนายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กล่าวว่า การจัดการประกวดผ้าลายพระราชทานครั้งนี้ มีความปลื้มปิติเป็นอย่างมากที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาทรงพระราชทานพระอนุญาตให้กรมการพัฒนาชุมชน และสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ซึ่งได้ดำเนินการรับสมัครมาตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 จนถึงการประกวดระดับประเทศ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2564 นับเป็นความภาคภูมิใจของพี่น้องประชาชนและกรมการพัฒนาชุมชนที่ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ฯ เสด็จเป็นองค์ประธานตัดสินการประกวด ซึ่งในวันนี้ได้มาถึงรอบชิงแชมป์ระดับประเทศ โดยมีผ้าที่ชนะผ่านเข้ารอบการประกวดจำนวน 11 ประเภท รวมจำนวน 50 ผืน จากผู้เข้าประกวด จำนวน 46 คน บัดนี้ ผลการประกาศออกมาให้ทราบโดยทั่วกันแล้ว มีผ้าที่ได้รับรางวัลการประกวด จำนวน 50 รางวัล โดยรางวัล The Best of The Best จะได้เหรียญทองพร้อมสร้อยคอทองคำหนัก 2 บาท จำนวน 1 รางวัล รางวัลสีแทรนด์บุ๊ค เหรียญทอง จำนวน 1 รางวัล รางวัลชนะเลิศเหรียญทอง จำนวน 7 รางวัล รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เหรียญเงิน จำนวน 6 รางวัล รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เหรียญทองแดง จำนวน 7 รางวัล รางวัลชมเชย จำนวน 24 รางวัล และรางวัลเข้าร่วมการประกวดระดับประเทศ จำนวน 4 รางวัล เพื่อเป็นเกียรติ และเป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้ชนะการประกวด ตลอดทั้งคณะกรรมการ คณะทำงาน และผู้สนับสนุนการประกวดผ้าลายพระราชทาน ดังนี้

รางวัล The Best of Best ได้แก่ นายมีชัย แต้สุจริยา บ้านคำปุน จังหวัดอุบลราชธานี (เทคนิคผ้าเทคนิคผสม)

รางวัลสีเทรนด์บุ๊ค ได้แก่ นายธงชัย พันธุ์สง่า ห้องเสื้อดีเทล จังหวัดนครราชสีมา (เทคนิคผ้ายกเล็ก)

ประเภทผ้ามัดหมี่ 2 ตะกอ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นางสมเพียร จรรยาศิริ กลุ่มทอผ้าไหมไม้มงคลบ้านโคกล่าม หมู่ 10 จังหวัดมหาสารคาม

ประเภทผ้ามัดหมี่ 3 ตะกอ ขึ้นไป รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายอภิชาติ พลบัวไข กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก จังหวัดอุดรธานี

ประเภทผ้าขิด รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายพูลสวัสดิ์ จันทร์บุญ กลุ่มทอผ้าไหมหมี่ขิดบ้านศรีชมชื่น จังหวัดอุดรธานี

ประเภทผ้ายกเล็ก รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายธงชัย พันธุ์สง่า ห้องเสี้อดีเทล / DETAIL จังหวัดนครราชสีมา

ประเภทผ้าแพรวา รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นางสาวบุญเรือง ศรีบัว จังหวัดกาฬสินธุ์

ประเภทผ้าเทคนิคผสม รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายมีชัย แต้สุจริยา บ้านคําปุน จังหวัดอุบลราชธานี

ประเภทผ้าบาติก มัดย้อม รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายยุทธพล ซุ่นเซ่ง ศิวะนาฏ กนกไทย จังหวัดพัทลุง และนางสาวฉัตรกนก ขุนทน กลุ่มมัดย้อมสีธรรมชาติบ้านคีรีวง จังหวัดนครศรีธรรมราช

และ ประเภทผ้าเทคนิคสร้างสรรค์ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นางสาวสุชาดา วิมลรัตนกิจ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าไหมมัดหมี่บ้านหัวฝาย จังหวัดขอนแก่น

โดยรางวัลผลงานของผู้ชนะการประกวดรางวัลชนะเลิศรางวัลเดียวจากในแต่ละประเภท (The Best of the Best) จะนำมาออกแบบตัดเย็บเป็นฉลองพระองค์และเหรียญพระราชทาน ซึ่งเป็นพระพักตร์ด้านข้าง พระเกศาทัดบุปผาราชินี “ดอกแคทลียาควีนสิริกิติ์” ที่พระองค์ทรงออกแบบด้วยพระองค์เอง มีนัยยะสะท้อนชัดเจนถึงการทรงงานอย่างมุ่งมั่นเพื่อยกระดับคุณค่าของผ้าไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย ตามพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ต้องการเผยแพร่ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ พัฒนาศักยภาพวงการผ้าไทยให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับสู่สากล

 ” นับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่และความภาคภูมิใจของผู้ชนะเลิศแต่ละประเภทที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ และโอกาสนี้ ขอแสดงความยินดีกับผู้ชนะเลิศในแต่ละประเภท และชื่นชมผลงานของผู้เข้าร่วมประกวดทุกท่าน ผมเชื่อว่า การประกวดในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นหรือประตูบานใหญ่แก่นักออกแบบทุกท่านที่จะช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ รายละเอียดและเทคนิคต่างๆ บนผืนผ้า ตลอดจนนำไปพัฒนาศักยภาพผ้าไทยให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้แก่ชุมชน อันเป็นพลังที่จะสืบสานความเป็นไทยในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาหัตถกรรมไทย ให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืนสืบไป “  อธิบดี พช. กล่าวปิดท้าย