ข่าวประชาสัมพันธ์

จากสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย

ข่าวเช้าวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566

มท.1 เป็นประธานมอบรางวัลการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ระดับประเทศ ประจำปี 2566 ยกย่อง 20 จังหวัดต้นแบบการจัดการขยะที่เป็นเลิศ

วันนี้ (24 พ.ย. 66) เวลา 14.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานมอบรางวัลการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ประจำปี พ.ศ. 2566 และรางวัลอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลกดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2566 โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย คุณกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายพรพจน์ เพ็ญพาส รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ด้านบริหาร นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมในพิธี

โอกาสนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เยี่ยมชมการจัดแสดงนิทรรศการถอดบทเรียนความสำเร็จของจังหวัดที่ได้รับรางวัลชนะเลิศทั้ง 5 กลุ่มจังหวัด หลังจากนั้นได้มอบรางวัลให้กับ 20 จังหวัดต้นแบบการจัดการขยะมูลฝอยระดับประเทศ และอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลกดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 15 คน พร้อมทั้งกล่าวแสดงความยินดีและมอบนโยบายด้านการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนให้กับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การจัดการขยะมูลฝอยเป็นหน้าที่ของทุกคนและทุกหน่วยงานที่ต้องบูรณาการร่วมมือกันตั้งแต่ครัวเรือนไปสู่ชุมชนจนถึงระดับประเทศ และขอชื่นชมกับความสำเร็จของจังหวัดที่ได้รับรางวัลในวันนี้ แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดถึงความจริงจังในการจัดการปัญหาขยะของทุกจังหวัด

"ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้นำแนวทางการบริหารจัดการนี้ ไปปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในด้านอื่น ๆ รณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ความตระหนักในการจัดการขยะที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ตั้งแต่ระดับต้นทาง กลางทาง และปลายทาง สร้างบ้านเมืองที่สะอาด สวยงาม สร้างความเข้มแข็งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำบริการสาธารณะตามอำนาจหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อแสดงความมุ่งมั่นที่ประเทศไทยจะปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ คือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 40% ภายในปี 2030 มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065" นายอนุทินฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้จัดทำ "แผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน "จังหวัดสะอาด" ประจำปี พ.ศ. 2560 และต่อเนื่องมาจนถึงปีปัจจุบัน พ.ศ. 2566 เพื่อให้จังหวัดดำเนินการขับเคลื่อนผ่านกลไกความร่วมมือจากทุกภาคส่วน คือ ภาครัฐ ภาคศาสนา ภาควิชาการ ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน ตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหมู่บ้าน/ชุมชน โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ต้นทาง คือ การลดปริมาณขยะและการส่งเสริมการคัดแยกขยะมูลฝอย ณ แหล่งกำเนิด กลางทาง คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บและขนขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ และปลายทาง คือ ขยะมูลฝอยได้รับการกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ

"สำหรับในปี พ.ศ. 2566 ได้กำหนดเป้าหมายของแผนปฏิบัติการดังกล่าว ให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมดังต่อไปนี้ คือ "ระยะต้นทาง" ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่งเสริมทุกครัวเรือนเข้าร่วมเครือข่าย "อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก" (อถล.) จัดกิจกรรมส่งเสริมการนำ "ขยะบรรจุภัณฑ์" กลับมาใช้ใหม่ จัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน และสุ่มตรวจสอบการดำเนินงาน "ระยะกลางทาง" ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดให้มีภาชนะรองรับขยะมูลฝอยแบบแยกประเภทในที่สาธารณะ และหรือสถานที่ท่องเที่ยวทุกแห่ง มีการจัดเก็บขนขยะมูลฝอยแยกประเภท ขนของเสียอันตรายชุมชนไปยังจุดรวบรวมของเสียอันตรายของจังหวัด และหมู่บ้าน/ชุมชนมีการติดตั้งถังขยะ หรือจุดรวบรวมมูลฝอยติดเชื้อชุมชน "ระยะปลายทาง" ส่งเสริมสนับสนุนให้ขยะมูลฝอยชุมชนได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง โดยการรวมกลุ่มพื้นที่การจัดการมูลฝอย (Clusters) และให้มีการขนขยะไปยังเจ้าภาพของกลุ่มพื้นที่ สำหรับของเสียอันตรายชุมชนและมูลฝอยติดเชื้อชุมชนให้ได้รับการกำจัด
อย่างถูกต้อง" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวในช่วงท้ายว่า เพื่อเป็นการติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานของจังหวัด และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการขยะชุมชน กระทรวงมหาดไทยจึงได้จัดการประกวดการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน "จังหวัดสะอาด" และการประกวดอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลกดีเด่นแห่งชาติขึ้น เพื่อเป็นแรงจูงใจ ยกย่องและเชิดชูเกียรติให้แก่หน่วยงานและประชาชนในพื้นที่ที่ได้ร่วมแรง ร่วมใจ ในการบริหารจัดการขยะมูลฝอย โดยได้คัดเลือกจังหวัดที่มีการปฏิบัติงานดีเด่นระดับประเทศ โดยมีผลการคัดเลือกจังหวัดที่มีการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ระดับประเทศ ประจำปี 2566 แบ่งเป็น 5 กลุ่มจังหวัด ดังนี้

1) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ จังหวัดลำพูน รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ จังหวัดลำปาง และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 3 ได้แก่ จังหวัดพิจิตร

2) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ จังหวัดยโสธร รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 3 ได้แก่ จังหวัดสกลนคร

3) กลุ่มจังหวัดภาคกลางและภาคตะวันตก รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ จังหวัดสิงห์บุรี รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ จังหวัดสระบุรี รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 3 ได้แก่ จังหวัดสมุทรสงคราม

4) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ จังหวัดตราด และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 3 ได้แก่ จังหวัดระยอง

5) กลุ่มจังหวัดภาคใต้ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ จังหวัดสตูล รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ จังหวัดยะลา รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ จังหวัดตรัง และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 3 ได้แก่ จังหวัดระนอง

สำหรับอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลกดีเด่น แห่งชาติ มีดังนี้

1) ประเภทหนูน้อยรักษ์โลก รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เด็กหญิงชนม์นิภา มาลาเวียง รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่  1 ได้แก่ เด็กหญิงปวีณ์ธิดา ทนทอง รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ เด็กหญิงกวินตรา จันทร์ทอง และรางวัลชมเชย ได้แก่ เด็กชายศิริพงษ์ โพธิ์นาค และเด็กชายเขมทัต สุวรรณมณี

2) ประเภทเยาวชน รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นางสาวณัฐณิชา ศรีอุดร รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ นางสาวพีรดา ภาสุวรรณ รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ นางสาวอรวรรณ แสงแก้ว และรางวัลชมเชย ได้แก่ นางสาวจารุณี ภาพเพียร และนางสาวกัลยาวดี ปัญญะ

3) ประเภทบุคคลทั่วไป รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายสายัณห์ รุ่งเรือง รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ นางสาววรดา สอนซ้าย รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ นายปักรูเด็น มิง และรางวัลชมเชย ได้แก่ นางสาวศิริรัตน์ เรืองสวัสดิ์ และนายสมเกียรติ สันเทพ

#กระทรวงมหาดไทย
#บำบัดทุกข์บำรุงสุข
#MOI

กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1,074/2566
วันที่ 24 พ.ย. 2566