ข่าวประชาสัมพันธ์

จากสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย

ข่าวเช้าวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566

มท.1 มอบ 6 นโยบายสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เน้นย้ำ "ต้องสร้างงาน สร้างโอกาส Upskill เพิ่มศักยภาพกำลังคน สนองตอบตลาดแรงงาน เพื่อประโยชน์สูงสุดของพี่น้องประชาชนและประเทศไทย"

วันนี้ (23 พ.ย. 66) เวลา 13.30 น. ที่อาคารเพิร์ล แบงก์ค็อก สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มอบนโยบายการดำเนินงานของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) โดยมี นายสัตวแพทย์ ยุคล ลิ้มแหลมทอง กรรมการสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายศุภชัย ใจสมุทร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยคณะกรรมการสถาบันฯ นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันฯ คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และสื่อมวลชน ร่วมรับฟัง

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตนในฐานะรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลการบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และ "สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ" (สคช.) ทำให้ได้มีโอกาสได้ดูภาพรวมทั้งหมดของ "การพัฒนาคน" และสามารถจะบูรณาการงานที่มีความเกี่ยวข้องกันให้สนับสนุน ส่งเสริมซึ่งกันและกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ "สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ" ต้องไวต่อความเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) ในตลาดแรงงาน เพื่อให้สามารถตอบโจทย์การพัฒนาสมรรถนะของคนทำงานในทุกมิติ และยิ่งไปกว่านั้น "ต้องคาดการณ์ความต้องการในอนาคต" เพื่อให้สามารถเตรียมคนให้พร้อมได้ทันด้วย ดังนั้น คนที่ทำงานในสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ต้องมีแนวคิด มีอุดมการณ์แบบนี้ไว้ในใจเสมอ ถ้าในตลาดแรงงานมีทักษะที่ขาดแคลน นั่นหมายความว่า เรายังคาดการณ์ไม่ไวพอ ไม่เร็วพอที่จะผลิตคนให้ตอบสนองความต้องการได้ ประเทศไทยก็จะเสียโอกาส "พวกเราทุกคนต้องเป็นคนที่ "ทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที" เพื่อไม่ตกยุค และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพจะสามารถทำให้ "คุณวุฒิวิชาชีพ และการรับรองสมรรถนะ" เป็นเสมือน "Degree" ที่จะช่วยส่งเสริมประชาชนให้มีโอกาสได้ทำงานที่ดีขึ้น มีภาระรายจ่ายกับการเรียนที่น้อยลงในตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

"เพื่อเป็นการต่อยอดการขับเคลื่อนงานของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ โดยน้อมนำพระปฐมบรมราชโองการ "สืบสาน รักษา และต่อยอด" มาสู่การพัฒนากำลังแรงงาน จึงขอให้สถาบันฯ ดำเนินการ 6 นโยบายเน้นหนัก ได้แก่ 1. "แรงงานใหม่ต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานเร็วขึ้น" หลังจากได้งานทำ และได้รับการฝึกจากสถานประกอบการอย่างมีมาตรฐานแล้ว จะต้องมีคุณวุฒิวิชาชีพในระดับที่ทำให้ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม และสามารถยกระดับสมรรถนะได้อย่างต่อเนื่อง โดยสนับสนุนให้สถานประกอบการเป็น Partner สำคัญในการพัฒนาสมรรถนะของคนทำงาน 2. "แรงงานเดิมต้องได้รับการพัฒนายกระดับสมรรถนะ" โดยส่งเสริมให้เครือข่ายของสถาบันฯ "ฝึก" กำลังแรงงาน และประเมินสมรรถนะคนทำงาน ในอาชีพที่เป็นความต้องการของประเทศ รวมถึงดูแลแรงงานนอกระบบ และแรงงานอิสระ เช่น กลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ขนส่งสินค้าและอาหาร หรือไรเดอร์ เป็นต้น รวมถึงการฝึกอาชีพให้กลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากประเทศไทยได้เข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัยแล้ว และยังมีผู้สูงอายุจำนวนมากที่มีความสามารถในการทำงาน เพราะ "คนแก่ไม่ใช่คนป่วย" การส่งเสริมโอกาสในการทำงานนอกจากจะช่วยชาติแล้ว ยังช่วยให้พวกเขามีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีขึ้นด้วย 3. สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพต้องเป็นหน่วยงานที่เชื่อมโยงและผลักดันเครือข่ายภาคการศึกษา โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษา อาชีวศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในและนอกระบบ ให้นำเอามาตรฐานอาชีพไปกำหนดให้เป็นหลักสูตร "สมรรถนะ" เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ คือ "คนตรงงาน งานตรงคน" โดยลดการเรียนในห้อง เน้นฝึกงานในสถานประกอบการ และให้มีประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ (Professional Qualification) หรือหนังสือรับรองสมรรถนะ (Competency Certificate) เพื่อใช้ในการสมัครงานต่อไป 4. คุณวุฒิวิชาชีพ ต้องเป็น "Degree " ด้านอาชีพ ให้กับผู้ที่สมควรได้รับการยกย่อง ตามความรู้ความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม ซึ่งมีวิทยฐานะเท่ากับระดับ 7 หรือ 8 ซึ่งเทียบได้กับการได้รับปริญญาโทหรือปริญญาเอก อาทิ ปราชญ์เกษตร ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะ วัฒนธรรม และหัตถกรรม เป็นต้น 5. ผลักดันและขับเคลื่อนแพลตฟอร์ม E-Workforce Ecosystem (EWE) ให้เป็น Big Data "ด้านกำลังคน" ของประเทศไทยให้คนหางานและนายจ้างได้มาเจอกัน ตลอดจนเป็น "ช่องทาง" เข้าถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการพัฒนาทักษะ "อย่างเป็นระบบ" หากฐานข้อมูลพัฒนาได้อย่างสมบูรณ์ รัฐบาลก็จะสามารถกำหนดนโยบายได้อย่างเหมาะสม ตามอุปสงค์ อุปทานของตลาดแรงงาน และเปิดโอกาสให้แรงงานทั้งในไทยและต่างประเทศ และ 6. ยกระดับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพสู่เวทีสากล ผ่านการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อเตรียมความพร้อมให้คนที่ต้องการไปทำงานต่างประเทศ หรือคนไทยที่เคยไปทำงานที่ต่างประเทศแล้วต้องการกลับมาที่ประเทศไทย สามารถมีคุณวุฒิวิชาชีพยืนยันความสามารถและสามารถเจริญเติบโตในเส้นทางอาชีพในฐานะพลเมืองโลก "ต้องสร้างงาน สร้างโอกาส Upskill เพิ่มศักยภาพกำลังคนสนองตอบตลาดแรงงาน เพื่อประโยชน์สูงสุดของพี่น้องประชาชนและประเทศไทย"" นายอนุทินฯ กล่าวเน้นย้ำ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้กำลังใจผู้บริหารและบุคลากรในสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพในการผลักดันและต่อยอดผลงานต่อไป เพราะ "การพัฒนาคน ก็คือการพัฒนาชาติ" งานของสถาบันฯ มีความสำคัญ และจะมีแต่สำคัญยิ่งขึ้นไปอีกในอนาคต ขอให้มีความ Active และสนุกกับการทำงานอยู่เสมอ เพื่อประโยชน์สูงสุดของพี่น้องประชาชน

ด้านนายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ตลาดแรงงานในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งทางเทคโนโลยี และ Digital Disruption ทำให้เยาวชนและแรงงานไทยต้องพัฒนาทักษะของตนเองโดยตลอดเวลา (Life-long Learning) เพื่อให้ทันกับความต้องการของตลาดแรงงาน "เพราะทักษะ คือ อนาคต (Our skills our future)" ลำพังผู้ได้รับประกาศนียบัตรทางการศึกษาก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่าเขาเหล่านั้นจะมีทักษะการทำงานในอาชีพได้จริง ทั้งนี้ ประเทศไทยมีเยาวชนที่มีความรู้ความสามารถมากมาย หากเราได้ร่วมสนับสนุนและส่งเสริมก็จะทำให้มีแรงงานที่มีคุณภาพอย่างมากมาย

"โลกปัจจุบันให้ความสนใจกับการศึกษาเรียนรู้ที่ซับซ้อน (Complex Knowledge) และออนไลน์ ทำให้เกิดอาชีพหลากหลายมากมาย เช่น โดรนทางการเกษตร การติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ซึ่งเป็นพลังงานทางเลือก ลดคาร์บอน สปาสุนัข สปาแมว บริหารจัดการขยะชุมชน ฯลฯ ซึ่งทุกวันนี้มีหน่วยงานมาขอรับการสนับสนุนด้านการจัดทำมาตรฐานอาชีพ ให้สถาบันร่างมาตรฐานอาชีพ เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันและปฏิบัติตรงกัน และมีจรรยาบรรณอาชีพ (Code of Conduct) ตั้งแต่การกำหนดมาตรฐานอาชีพ เมื่อแรงงานได้ไปฝึก และประเมิน ก็จะได้รับใบประกาศนียบัตรรับรอง และมีทักษะที่สามารถทำงานได้จริง ซึ่งเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพราะเรามีคนด้อยโอกาสที่ไม่ได้รับโอกาสในการเรียนในระบบ ทำให้ไม่ได้รับประกาศนียบัตรทางการศึกษา แต่สามารถมาขอรับ "ประกาศนียบัตรรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ" ที่มีศักดิ์และสิทธิ์เทียบเท่าประกาศนียบัตรรับรองทางการศึกษา อาทิ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมบริการสุขภาพและบริการทางการแพทย์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมพลังงานและพลังงานทดแทน อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมการเกษตร และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว" นายนครฯ กล่าวเพิ่มเติม

กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1,068/2566
วันที่ 23 พ.ย. 2566