ข่าวประชาสัมพันธ์

จากสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย

ข่าวเช้าวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566

 มท.1 ติดตามสถานการณ์เหตุแผ่นดินไหวในเมียนมา พร้อมสั่งการทุกหน่วยงานเตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชน โดยขณะนี้ส่งผลกระทบแล้ว 3 จังหวัด เชียงราย เชียงใหม่ สกลนคร โดยทุกจังหวัดได้เข้าสำรวจและให้ความช่วยเหลือแล้ว พร้อมทั้งได้กำชับผู้ว่าฯ - ศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทย สแตนบายรับแจ้งเหตุ/ขอความช่วยเหลือ ผ่านสายด่วน 1567 รวมถึงติดตามสถานการณ์ เตรียมสรรพกำลังอุปกรณ์ เครื่องจักร และกำลังพล พร้อมช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง
.
วันนี้ (17 พ.ย. 66) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงกรณี เมื่อเวลา 08.37 น. ได้เกิดแผ่นดินไหวประมาณ 6.4 แมกนิจูด จุดศูนย์กลางประเทศเมียนมา ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ประมาณ 100 กิโลเมตร รับรู้แรงสั่นสะเทือนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย สกลนคร และกรุงเทพมหานคร โดยศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้รับรายงานความเสียหาย 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และจังหวัดสกลนคร โดยในส่วนของจังหวัดเชียงราย สามารถรับรู้แรงสั่นไหว 18 อำเภอ มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 5  อำเภอ โดยได้ตรวจสอบพบการกระเทาะออกมาของปูนฉาบที่เชื่อมระหว่างอาคารใหม่และเก่าของโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ รวม 2 หลัง และจากการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารพบว่า ได้สร้างเพื่อรองรับแผ่นดินไหวได้ตามมาตราวัดริกเตอร์ได้ถึงระดับ 6 - 8 เพราะฉะนั้นโครงสร้างจึงไม่ได้รับกระทบ และสามารถใช้งานได้ตามปกติ ทั้งนี้ นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ออกสำรวจบ้านเรือนของประชาชนที่ไม่ได้สร้างเพื่อรองรับแผ่นดินไหวเพื่อป้องกันเหตุแล้ว นอกจากนี้พื้นที่อำเภอแม่สายได้รับรายงานพบคนงานก่อสร้างได้รับบาดเจ็บแขนซ้ายหัก จำนวน 1 คน เนื่องจากพลัดตกจากอาคารก่อสร้าง

“ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ สามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวทั้ง 25 อำเภอ และมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 3 อำเภอ 4 ตำบล 4 หมู่บ้าน เป็นบ้านเรือนประชาชน 2 หลัง และโรงเรียน 2 แห่ง คือ  1. อำเภอสันทราย จำนวน 1 จุด โดยพบอาคารของโรงเรียนบ้านป่าก้าง ได้รับความเสียหาย (เสาอาคารเรียนบางหลังมีเศษปูนกะเทาะ) โดยนายอำเภอสันทราย พร้อมเจ้าหน้าที่ อปท. และผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านป่าก้าง ร่วมสำรวจและติดตามผลกระทบอาคารที่ได้รับความเสียหาย และให้นักเรียนใช้อาคารอื่นเรียนไปพลางก่อน 2. อำเภอเชียงดาว จำนวน 1 จุด โดยพบบ้านเลขที่ 441/1 ม.6 ต.เชียงดาว ได้รับความเสียหายบางส่วน (กระเบื้องหลังคาหน้ามุกได้รับความเสียหาย) โดยนายอำเภอเชียงดาว และเจ้าหน้าที่ อปท. ได้สำรวจความเสียหาย และให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และ 3. อำเภอแม่แตง จำนวน 2 จุด โดยจุดแรกพบบ้านเลขที่ 15 ม.3 ต.ป่าแป๋ ได้รับความเสียหายบางส่วน (ผนังห้องครัวได้รับความเสียหายบางส่วน) และจุดที่สอง บริเวณโรงเรียนวัดหนองออน ม.10 ต.อินทขิล พบโคนเสามีรอยแตกร้าว 2 จุด โดยนายอำเภอแม่แตง อปท. ได้สำรวจความเสียหาย และให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ สำหรับพื้นที่บริเวณเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ หน่วยงานในสังกัดกรมชลประทานได้ทำการสำรวจแล้วไม่พบความเสียหาย และยังมีสภาพที่มั่นคงแข็งแรง รวมถึงโบราณสถาน โรงเรียน โรงพยาบาล และสถานที่อื่น ๆ ฝ่ายปกครองได้บูรณาการทีมงานตรวจสอบแล้วไม่พบความเสียหาย โดยพบว่ายังมีความสมบูรณ์ และความมั่นคงแข็งแรง และในส่วนของจังหวัดสกลนคร รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนที่โรงพยาบาลศูนย์สกลนคร อาคารอุบัติเหตุฉุกเฉินและผู้ป่วยนอก ตั้งแต่ชั้นที่ 7 - 9 อาคารได้รับความเสียหายเกิดรอยร้าวบางส่วน โดยจังหวัดได้สั่งการให้มีการอพยพผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ออกจากอาคาร และสั่งปิดการใช้อาคารอุบัติเหตุฉุกเฉินและผู้ป่วยนอก ทั้งนี้ได้ประสานวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยดำเนินการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารแล้ว” นายอนุทินฯ กล่าว
.
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนได้สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ได้ติดตามและประเมินสถานการณ์ร่วมกับจังหวัดที่ได้รับรู้ถึงแรงสั่นไหวและกรุงเทพมหานครอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งชี้แจงทำความเข้าใจให้กับประชาชนได้รับทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก รวมถึงแนวทางการปฏิบัติตนให้ปลอดภัย และการให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานราชการ และสำหรับพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายต้องดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยตามระเบียบ หลักเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด พร้อมทั้งเน้นย้ำผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทย ให้กำชับเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมสแตนบายประสานงานและรับแจ้งขอรับความช่วยเหลือจากประชาชนผ่านช่องทางสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งให้ทุกหน่วยงานทั้งส่วนกลางและในระดับพื้นที่เปิดช่องทางการรับแจ้งความเสียหายจากประชาชน และติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงจัดเตรียมสรรพกำลัง เครื่องมือ กำลังคน และอุปกรณ์สาธารณภัยให้พร้อมเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนโดยทันทีด้วย
.
#กระทรวงมหาดไทย
#บำบัดทุกข์บำรุงสุข
#MOI

กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1,047/2566
วันที่ 17 พ.ย. 2566