ข่าวประชาสัมพันธ์

จากสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย

ข่าวเช้า 26 ตุลาคม 2564

เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 64 เวลา 13.30 น. ณ ประตูระบายน้ำปากคลองบางบาล ตำบลไทรน้อย อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตรวจเยี่ยมระบบการระบายน้ำ โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ร่วมลงพื้นที่

นายธนากร ตันติกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2564 เป็นต้นมา ปริมาณจุดวัดน้ำ สถานี C.13  ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตราจากเดิมควบคุมการระบายน้ำอยู่ในเกณฑ์ไม่เกิน 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หลังจากระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้นโดยระบายน้ำ ตั้งแต่ 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีขึ้นไป รับน้ำเข้าคลองโผงเผง คลองบางบาล เริ่มส่งผลกระทบบริเวณพื้นที่ต่ำริมแม่น้ำน้อย จำนวน 3 อำเภอ ได้แก่ อ. ผักไห่ ต.ท่าดินแดง อ.เสนา ต.หัวเวียง ต.บ้านกระทุ่ม ต.บ้านแพน และ อ.บางบาล กรมชลประทานควบคุมการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาไม่เกินในอัตรา 2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระบายน้ำสูงสุด 2,788 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ณ ปัจจุบันยังได้รับผลกระทบริมแม่น้ำน้อย กรมชลประทาน ได้บริหารการจัดการน้ำด้วยการปรับแผนการรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่ง โดยจะปรับการรับน้ำเข้าฝั่งตะวันตกลงแม่น้ำน้อยในอัตรา 268 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และฝั่งตะวันออก รับน้ำเข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก เพิ่มขึ้น จาก 99 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อัตรา 175 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รวมทั้งสองฝั่ง อัตรา 443 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะพิจารณาถึงผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำ พร้อมหน่วงน้ำไว้เหนือเขื่อนเจ้าพระยา โดยควบคุมระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาควบคุมการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาไว้ไม่เกิน 2,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แนวโน้มเริ่มทรงตัว และระดับน้ำเริ่มลดลง

จากนั้นในเวลา 14:00 น. ณ วัดกำแพงแก้ว ตำบลสะพานไทย อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะ ตรวจเยี่ยมการให้ความช่วยเหลือและมอบถุงยังชีพให้กับผู้ประสบภัย พร้อมทั้งลงเรือตรวจเยี่ยมการให้ความช่วยเหลือและมอบถุงยังชีพให้กับผู้ประสบภัยที่พักอาศัยในบ้านเรือนที่ไม่สามารถเดินทางออกจากบ้านพักได้

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่กำลังประสบสถานการณ์อุทกภัย โดยได้มอบหมายให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงลงพื้นที่ติดตามการให้ความช่วยเหลือประชาชน และได้กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบางบาลซ้ำซากว่า ขณะนี้รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณตามกรอบวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 21,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินการคลองระบายน้ำหลาก บางบาล – บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยขุดคลองลัดระบายน้ำไปสู่อ่าวไทยได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อแบ่งมวลน้ำจากคลองบางบาลและคลองโผงเผง ไม่ให้ท่วมล้นไปสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน โดยเริ่มดำเนินการในปีนี้และจะแล้วเสร็จภายใน 2-3 ปีนี้ ควบคู่กับการดำเนินการโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งและระบบป้องกันน้ำท่วม อำเภอบางบาล อำเภอเสนา ของกรมโยธาธิการและผังเมือง ปี 2564-2566 รวมระยะทาง 12.85 กม. วงเงิน 1,214 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่บางบาล เสนา ได้รับการแก้ไขปัญหาได้ภายใน 3 ปี ตามห้วงระยะเวลาของการการขุดคลองลัดระบายน้ำ ซึ่งเมื่อโครงการทั้ง 2 โครงการแล้วเสร็จ จะช่วยแก้ไขสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่อำเภอบางบาล และอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อย่างยั่งยืน

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า พี่น้องประชาชนชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจะต้องประสบสถานการณ์จากน้ำท่วมทุกปี ซึ่งการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทุกส่วนราชการ ทุกหน่วยงาน ได้ช่วยกันดูแลให้พี่น้องประชาชนมีชีวิตอยู่ได้ ด้วยการประกอบอาหาร แจกจ่ายถุงยังชีพ และเมื่อน้ำผ่านไป ขอให้น้อมนำพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงมีรับสั่งว่า “ให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขโดยเร็วที่สุด” ทั้งด้านการซ่อมบ้านเรือน พื้นที่การเกษตร ตามหลักเกณฑ์กฎหมาย และบูรณาการทุกหน่วยงานในพื้นที่ช่วยกันฟื้นฟูซ่อมแซมบ้านเรือนและสถานที่ประกอบอาชีพของพี่น้องประชาชน ภาครัฐจะติดตามดูแลแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนให้เร็วที่สุดและมากที่สุด ทั้งนายอำเภอ ปลัดอําเภอ กำนันผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงทุกๆหน่วยงาน ทุกองคาพยพ จะลงไปช่วยพ่อแม่พี่น้องประชาชน “ข้าราชการทุกคนจะอยู่เคียงข้างกับพี่น้องประชาชน”

นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า จากผลกระทบของพายุโซนร้อนโกนเชิน (CONSON) ในช่วงวันที่ 10-13 กันยายน 2564 ประกอบกับอิทธิพลของพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” ที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยในห้วงวันที่ 24 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ทำให้ระยะนี้จึงมีฝนตกมากในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่งผลให้เกิดน้ำหลากบริเวณพื้นที่ตอนบนของลุ่มเจ้าพระยาไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำและคลองธรรมชาตินอกคันกั้นน้ำชลประทาน ได้รับผลกระทบน้ำเอ่อลันตลิ่งจากแม่น้ำน้อย คลองโผงเผง และคลองบางบาล เข้าท่วมบริเวณบ้านเรือนและที่อยู่อาศัย โดยจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทั้งสิ้น 14 อำเภอ 124 ตำบล 740 หมู่บ้าน 51,569 ครัวเรือน รวมทั้งมีวัดและมัสยิดที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 112 วัด 10 มัสยิด ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยนั้น ทางจังหวัดฯ ได้รับการสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อบรรเทาสาธารณภัย ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ทั้งเครื่องสูบน้ำ เรือพาย เรือท้องแบน เต็นท์สนาม สุขาลอยน้ำ สุขาติดตั้งบนพื้น และเสื้อชูชีพ เป็นต้น รวมทั้งได้รับการอนุเคราะห์ถุงยังชีพและมอบแก่ประชาชนที่ประสบอุทกภัยแล้ว จำนวน 73,571 ถุง โดยจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจะยังคงบูรณาการการทำงานในพื้นที่เพื่อรับมือกับปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น และเร่งแก้ไขความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ให้กลับสู่สถานการณ์ปกติโดยเร็วที่สุดต่อไป