ข่าวประชาสัมพันธ์

จากสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย

ข่าวเช้าวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566

มท.1 เปิดสัมมนาทางวิชาการ เนื่องในวันผังเมืองโลก พ.ศ.2566 (World Town Planning Day) เน้นย้ำ ร่วมกันพัฒนาเมืองด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สอดรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสังคมผู้สูงอายุ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างมั่นคงและยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชนทุกคน

วันนี้ (8 พ.ย. 66) เวลา 10.30 น. ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ ถ.รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดการสัมมนาทางวิชาการ เนื่องในวันผังเมืองโลก พ.ศ. 2566 (World Town Planning Day) ภายใต้แนวคิด SHAPING THE FUTURE URBAN PLANNING FOR CLIMATE CHANGE ADAPTATION อนาคตออกแบบได้พลิกโฉมผังเมืองรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมี นายแร็มโก โยฮันเนิส ฟัน ไวน์คาร์เดิน เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย นายสมเจตน์ ลิมปะพันธุ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและโฆษกกระทรวงมหาดไทย นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายไฮน์ริช กูเดนุส (Mr. Heinrich Gudenus) ผู้อำนวยการโครงการ Urban-Act องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) นายคณิต ธนูธรรมเจริญ ผู้แทนฝ่ายศึกษาและพัฒนาป่าไม้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ นายชยดิฐ หุตานุวัชร์ นายกสมาคมสถาบันทิวา ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้แทนจากประเทศสมาชิก ESCAP ผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ผู้แทนจากองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UN) คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน และสื่อมวลชน ร่วมในงาน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การสัมมนาทางวิชาการ เนื่องในวันผังเมืองโลก พ.ศ.2566 (World Town Planning Day) ภายใต้แนวคิด SHAPING THE FUTURE URBAN PLANNING FOR CLIMATE CHANGE ADAPTATION อนาคตออกแบบได้พลิกโฉมผังเมืองรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายกระทรวงมหาดไทยเพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด พลังงานทางเลือก การออกแบบและสร้างพื้นที่จัดเก็บน้ำ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนมีวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หากพูดถึงเรื่องการออกแบบผังเมือง เรามีงานอีกมากที่จะต้องทำร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบผังเมืองให้เอื้อต่อการเดินทางโดยใช้พลังงานให้น้อยที่สุด ซึ่งแต่ละประเทศมีการส่งเสริมให้คนเดินทางด้วยการเดินหรือจักรยานให้มากขึ้น เพื่อลดการใช้พลังงาน หรือการออกแบบอาคารต่าง ๆ ในเมืองให้สอดรับกับวัฒนธรรมแนวทางการออกแบบที่คำนึงถึงการประหยัดพลังงาน ซึ่งในความเป็นจริงในปัจจุบัน เราสามารถใช้ผลพวงของวิถีชีวิตที่เป็นปกติแบบใหม่ หรือ New Normal มาประยุกต์ใช้ต่อจากนี้เป็นต้นไป ทั้งเรื่อง Green Renewable พลังงานหมุนเวียน การลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ การลดกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดเปรียบเสมือนกฎกติกาของโลกร่วมกันที่ทุกคนจะต้องตระหนักและทำร่วมกันในทุกบริบท ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม การเมือง การค้า หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หากเราไม่ให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้ อาจจะถูกกีดกันโอกาสต่าง ๆ จากประชาคมโลก ซึ่งปัจจุบันทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญกับหลักมนุษยธรรมและการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกันกับประเทศไทย ที่จะต้องทำตามกฎเกณฑ์ กติกาของโลกที่วางไว้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเป็นที่ยอมรับจากนานา ประชาชาติ

"เป็นหน้าที่ของพวกเราที่จะช่วยกันทำให้เกิดพื้นที่สีเขียว เกิดผลดีต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อทุกคนในทุกมิติ ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ได้ขับเคลื่อนในแนวทางการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าที่ผ่านมาเราได้เผชิญกับวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ด้วยความร่วมแรง ร่วมใจของพวกเราทุกคน การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เว้นระยะห่างจากสังคม ด้วยการ Work from Home ทำให้ประเทศไทยสามารถฝ่าฟันวิกฤตดังกล่าวได้ ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)" ที่ทุกคนรู้จักกันดี จากการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันให้รองรับต่อการเปลี่ยนแปลง ทุกคนอยู่กับบ้าน ทำงานผ่านระบบทางไกล ลดการคมนาคมลง จนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลดีต่อการฟื้นฟูสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของโลกเรา จึงเป็นแนวทางที่เราทุกคนต้องตระหนักและให้ความสำคัญ เพื่อลดการทำให้เกิดมลภาวะ ลดกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการหันไปใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาด เพื่อประเทศไทยและโลกของเรา" นายอนุทินฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า การสัมมนาในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสอันดีที่จะให้ผู้เชี่ยวชาญทุกภาคส่วนได้ใช้เวทีนี้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้เกิดข้อเสนอแนะที่จะเป็นการตอบโจทย์ความท้าทายทั้งหลาย นำไปสู่การบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน ทำให้ประเทศของเราเป็นประเทศที่น่าอยู่เพิ่มมากขึ้นและเป็นประเทศที่ใช้พลังงานบริสุทธิ์มากขึ้น ซึ่งกระทรวงมหาดไทยมีนโยบายชัดเจนที่ให้ทุกคนตระหนักและให้ความสำคัญกับเรื่องพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การวางแผนผังเมืองเพื่อสนับสนุนคมนาคมคาร์บอนต่ำ จึงเป็นโจทย์สำคัญของกรมโยธาธิการและผังเมืองที่จะต้องดำเนินการจัดทำผังเมืองให้เตรียมพร้อมสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายเหล่านี้ ตลอดจนถึงการรองรับกับสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย เพื่อให้ตอบสนองต่อการใช้ชีวิตของพี่น้องประชาชนทุกคน เพราะทุกคนไม่ใช่ภาระ แต่เป็นโอกาสที่ทุกคนจะมีชีวิตยืนยาว มีสุขภาพพลานามัยที่ดี สามารถพึ่งพาตนเองได้

"สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้โดยการวางแผนผังเมืองที่ดีจากพวกเรา และความยั่งยืนจะเกิดขึ้น หากมีการวางแผนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีพื้นที่สีเขียว ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชนด้วย สอดคล้องกับพันธกิจของกระทรวงมหาดไทย ในการ "การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข" ทั้งนี้ รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญกับนโยบายในการดำเนินงานในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการดูแลโลก เพราะเราทุกคนต้องเดินก้าวสู่อนาคตไปพร้อมกัน "อนาคตเราออกแบบได้" และขอให้ทุกท่านช่วยกันทำให้บ้านเมืองของเราเป็นเมืองที่น่าอยู่ ประชาชนมีคุณภาพ มีชีวิตที่ดี ด้วยการวางแผนอนาคต ทำให้บ้านเมืองของเราดีขึ้น เพื่อตัวเราและลูกหลานของเราต่อไป" นายอนุทินฯ กล่าวในช่วงท้าย

นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า กรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินการจัดสัมมนาทางวิชาการ เนื่องในวันผังเมืองอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีตามนโยบายกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนงานตามแนวทาง "ทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที" เพื่อเผยแพร่และแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการผังเมืองตลอดจนส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนรวมถึงประชาชนได้ตระหนักคิดพิจารณาถึงบทบาทและความสำคัญในการวางผังเมืองให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติประกอบด้วย 17 เป้าหมาย ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความมั่นคงและความยุติธรรม และความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในประเทศ และระหว่างประเทศ ในการเป็นหุ้นส่วนของการพัฒนา ซึ่งการจัดงานสัมมนาวันนี้จัดขึ้นในหัวข้อต่างๆ อันเนื่องมาจากปัจจุบันในหลายประเทศได้เกิดภัยพิบัติต่าง ๆ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นการผันแปรตามธรรมชาติหรือกิจกรรมของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่ทำให้องค์ประกอบของบรรยากาศโลกเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้เกิดภัยปฏิบัติ ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ส่งผลกระทบไปสู่เมืองที่ประชาชนอาศัยอยู่

"การสัมมนาในวันนี้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ในการคิดวิเคราะห์ออกแบบผังเมืองและขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาผังเมือง ซึ่งมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศให้มีความยืดหยุ่นในทุกด้าน ส่งผลให้เมืองเกิดนวัตกรรมใหม่ในหลากหลายมิติ ซึ่งมีเป้าหมายหลักเพื่อให้ประชาชนมีชีวิตที่ดี สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปลอดภัย โดยในวันนี้มีผู้เข้าร่วมสัมมนาฯ จำนวน 400 ท่าน และผู้เข้าร่วมผ่านการประชุมสัมมนาทางไกลจำนวนมาก โดยรับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวจากทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อมาแลกเปลี่ยนแนวคิดในการออกแบบสร้างสรรค์ผังเมืองรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ กรมโยธาธิการและผังเมือง มั่นใจว่าในการสัมมนาในครั้งนี้จะบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้ทุกประการ" นายพงศ์รัตน์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

#กระทรวงมหาดไทย
#บำบัดทุกข์บำรุงสุข
#MOI

กองสารนิเทศ สป.มท.
ครั้งที่ 1,010/2566
วันที่ 8 พ.ย. 2566