ข่าวประชาสัมพันธ์

จากสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย

ข่าวเช้าวันที่ 2 ตุลาคม 2566

นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาการมอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เน้นย้ำ ภาครัฐ คุมเข้มให้ความสำคัญกับการดำเนินตามแผนการใช้งบประมาณ 5 กรอบความสำคัญ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนและประเทศชาติ

วันนี้ ( 2 ต.ค. 66 ) เวลา 09.30 น. ที่ห้อง Royal Jubilee Ball room อาคารชาเลนเจอร์ ชั้น 1 อิมแพค เมืองทองธานี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาการมอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง หัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่น เจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่นของรัฐ และสื่อมวลชน ร่วมในงาน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทย กำลังเผชิญความท้าทาย ทั้งเศรษฐกิจสังคม และการเมือง ซึ่งได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์ภายในและภายนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผลจากโควิด 19 ที่ทำให้ประเทศไทยฟื้นตัวช้ากว่าเพื่อนบ้าน และฟื้นอย่างไม่เท่าเทียมก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำของประชาชนไทยในหลายระดับ ซึ่งเราได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ในเวทีสหประชาชาติ (UN) ว่าเราจะเดินหน้าพัฒนาแก้ไขเรื่องนี้ให้ดีที่สุด ร่วมกับนานาประเทศ ในส่วนของภาคสังคม ประเทศไทยก็มีความท้าทายหลายประการที่กำลังเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคมผู้สูงอายุ Aged Society จะทำให้ workforce ของเราลดลง ส่งผลต่อสัดส่วนแรงงานต่อประชากร และรัฐจะต้องใช้เงินมากขึ้นในการทำสวัสดิการเพื่อดูแลประชากรทุกคน ความเปราะบางที่เกิดจากหนี้สิน หนี้ครัวเรือน ค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่เป็นธรรม ยาเสพติด หลาย ๆ ปัญหา ผมก็ได้ไปรับฟังมาด้วยตนเองจากการลงพื้นที่ กำลังก่อให้เกิดภาระทางการคลังของรัฐบาล ทั้งแง่การลงทุน แก้ปัญหา สวัสดิการ สาธารณสุข และอีกหลาย ๆ มิติ

จากความท้าทายที่กล่าวไปทั้งหมด รัฐบาลนี้เราจะ Take on actions อย่างจริงจัง ดำเนินนโยบายร่วมกับทั้งราชการทุกภาคส่วน และผลักดันเอกชนทุกระดับ เพื่อรับมือกับความท้าทายนี้ในระยะสั้น รัฐบาลให้ความสำคัญ 3 ประการเร่งด่วนด้วยกัน คือการฟื้นฟูรายได้ ดูแลค่าใช้จ่ายของประชาชน และเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงขอให้ทุกหน่วยงานพิจารณาการลงทุนที่เหมาะสมเพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น ดำเนินการการเชื่อมฐานข้อมูลของประชาชนเป็นฐานเดียวกัน ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์และ Machine Learning เพื่อเพิ่มความสามารถ ใช้ระบบการจ่ายเงินที่ตรวจสอบได้ เพื่อป้องกันการทุจริตและเพิ่มความโปร่งใสในการทำงานของรัฐ การปฏิสัมพันธ์ระหว่างราชการกับประชาชน จะต้องทำให้ไม่มีคนมาต่อคิวรอตั้งแต่เช้า ต้องมีแผนปรับปรุงการให้บริการ กำจัดเจ้าหน้าที่ที่ทำตัวเป็นนายประชาชน เรียกรับสินบน ซึ่งผมรับไม่ได้ และต้องปรับปรุงขั้นตอนการบริหารภายในราชการด้วยกันเอง เพื่อทำให้งานทำได้เร็วยิ่งขึ้น เพิ่ม Productivity ของทั้งระบบ ให้สะท้อนไปสู่บริการประชาชนที่ดียิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งเป้าหมายของเรา ด้านเศรษฐกิจ คือการทำให้ GDP ของประเทศโตเฉลี่ย 5% ตลอด 4 ปีนี้ และทำให้รายได้ขั้นต่ำให้ถึง 600 บาทในปี 2570 เป็นจุดเริ่มต้นของแผนการมุ่งหน้าสู่การเป็นประเทศรายได้สูง ขอทุกภาคส่วนร่วมกันดูแลประชาชนทุกภาคส่วนให้มีชีวิตอย่างมีความสุข มีสวัสดิการที่เหมาะสม ทำให้เขาเลี้ยงชีพได้อย่างสมศักดิ์ศรีด้วย หลาย ๆ อย่างที่ทำมาดีแล้ว ก็ขอให้ทำต่อไป และขอให้เปิดใจ รับฟังเสียงของประชาชน เพื่อนำไปปรับปรุง” นายเศรษฐาฯ กล่าวในช่วงต้น

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวต่ออีกว่า ขอให้ผู้บริหารหน่วยราชการช่วยกันกำกับดูแลการทำงานอย่างขะมักเขม้น แต่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ สร้างวิธีการทำงานที่เน้นผลลัพธ์ มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน มากกว่าแค่ทำตามกระบวนการ และขอให้ยึดโยงกับประชาชนเสมอ ในปีงบประมาณ 2567 การใช้จ่ายภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินนโยบายของรัฐให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และแผนต่าง ๆ ให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด รัฐบาลจะมีเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นวงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ ผมตั้งใจที่จะบริหารจัดการการคลังด้วยความรอบคอบ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และรักษาวินัยและเสถียรภาพทางการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด

ทุกท่านที่อยู่ในที่นี้ล้วนเป็นตัวแทนจากภาครัฐทั้งหมด เราทุกคนมีส่วนร่วมที่จะต้องช่วยกันดูแลสถานะ ความมั่นคง ของการเงินการคลังในระยะยาว ถึงแม้งบประมาณปี 67 จะล่าช้า แต่ขอให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการเบิกจ่าย โดยอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย มีความระมัดระวัง อย่าให้เศรษฐกิจสะดุด ฉะนั้นในการทำแผนงบประมาณปี 2567 นี้ ขอให้ทุกหน่วยงานพิจารณาประเด็นทั้งกรอบงบความสำคัญทั้ง 5 ข้อ ได้แก่ 1) ทำงบประมาณตามนโยบายที่สัญญากับประชาชน 2) ทำอย่างบูรณาการ ลดความซ้ำซ้อน 3) ทำอย่างมีประสิทธิภาพและรักษาวินัยการเงินการคลัง 4) ทำอย่างมีตัวชี้วัดและเป้าหมาย 5) ทำให้ครบทุกแหล่งเงินทุน และยึดวินัยการเงินการคลัง และขอให้จัดส่งให้สำนักงบประมาณภายในวันที่ 6 ตุลาคม 2566 ที่จะถึงนี้ สุดท้ายนี้ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่มาฟังในวันนี้ ขอให้ทุกท่านวางแผนงบประมาณให้มีสิทธิภาพ เพื่อจะได้ใช้ภาษีของประชาชนทุกบาท ทุกสตางค์ อย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์ต่อคนไทยทุกคน” นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวในช่วงท้าย

เฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 เห็นชอบยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ 2567 ที่ได้กำหนดแนวทางการจัดทำคำของบประมาณของหน่วยงานให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนต่าง ๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายรัฐบาล รวมทั้งการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการจัดทำโครงการรองรับ โดยคำนึงถึงความจำเป็นและภารกิจของหน่วยงานรับงบประมาณ ความต้องการ ในพื้นที่และแผนพัฒนาในพื้นที่ ตามความต้องการของประชาชนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพความคุ้มค่าในการใช้งานงบประมาณและผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งการประชุมในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้หัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ และผู้เข้าร่วมสัมมนารับฟังนโยบายจากนายกรัฐมนตรีเพื่อ จัดทำคำของบประมาณ รวมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติงาน และแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อจัดส่งให้สำนักงบประมาณ ภายในวันที่ 6 ตุลาคม 2566