วันที่ 2 ตุลาคม 2566
มท.1 ตรวจเยี่ยมกรุงเทพมหานคร ย้ำ ทุกการขับเคลื่อนนโยบายจะคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นหลัก พร้อมสนับสนุนบทบาทผู้ว่าฯ และข้าราชการ กทม. ขับเคลื่อนงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุขไปพร้อมกัน
วันนี้ (2 ต.ค. 66) เวลา 11.00 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติราชการกรุงเทพมหานคร โดยนายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมตรวจเยี่ยม โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองศาสตราจารย์ ดร.ทวิดา กมลเวชช นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แพทย์หญิงวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร รักษาราชการแทนปลัดกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการเขต และข้าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมรับฟัง โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสมเจตน์ ลิมปะพันธุ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสมชัย อัศวชัยโสภณ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายพรพจน์ เพ็ญพาส รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ร่วมในการตรวจเยี่ยมด้วย
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า “ผมดีใจมากที่ได้มาพบปะกับทุกท่านในวันนี้ กับท่านผู้ว่าเราคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว รู้จักกันมาตั้งแต่เด็ก เรียนวิศวะเหมือนกัน และอีกหนึ่งความเหมือนกัน คือ “เราต่างมาจากการเลือกตั้งของประชาชน” ทุกการขับเคลื่อนนโยบาย จะคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก”
“สำหรับผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากรกรุงเทพมหานครนั้น ผมขอขอบคุณทุกท่าน เพราะตัวผมเองก็เป็นคนกรุงเทพมหานครโดยกำเนิด หมายความว่า ได้มีโอกาสอยู่ในความดูแลของบุคลากรกรุงเทพมหานครมาหลายรุ่น และได้เห็นความเจริญเติบโตของกรุงเทพมหานคร เมื่อนึกย้อนไปก็ถือว่าเรามาไกลมากนะครับ หลายท่านอาจยังไม่ทราบว่า หลังจากสถานการณ์โควิด-19 นั้น เมืองหลวงของเราได้เคยถูกจัดอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลกในฐานะเมืองที่ผู้คนอยากมาพักผ่อนและทำงานด้วยในเวลาเดียวกัน หรือที่เรียกว่า “Workation” (work + vacation) ซึ่งเหตุผลหลัก ๆ ก็เป็นเพราะเรามีที่พักที่ได้มาตรฐาน อาหารอร่อย ค่าครองชีพไม่สูง มีระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่เอื้อต่อการทำงาน มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ และมีผู้คนที่เป็นมิตร แน่นอนว่าการมาเที่ยวเล่นเป็นครั้งคราวกับการอยู่อาศัยอย่างถาวรก็อาจจะเป็นประสบการณ์ที่ต่างกัน เราจึงมักได้ยินคำกล่าวว่า “เมืองของเรานั้นน่าอยู่มากสำหรับคนมีเงินเท่านั้น” ผมคิดว่านั่นคือโจทย์ของผู้บริหารว่าจะทำอย่างไรให้เมืองหลวงของเราเป็นเมืองที่ให้ความสุขได้ ทั้งสำหรับ “ผู้อยู่” และ “ผู้มาเยือน”” นายชัชชาติฯ กล่าว
นายอนุทินฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรุงเทพมหานครในยุคนี้ถือว่าโชคดีที่ได้อยู่ภายใต้การนำของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่มีความจริงจัง ทุ่มเท มีพลังในการขับเคลื่อน และมีบุคลากรที่มีความเป็นทีมสูง ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่า จะสามารถพัฒนาเมืองไปได้ภายใต้ความท้าทายรอบด้าน แต่อย่างไรก็ดีความท้าทายสำคัญในการขับเคลื่อนงานของกรุงเทพมหานครก็คือ การประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งมีจำนวนมาก และในเรื่องนี้รัฐบาลก็ตระหนักดี ท่านนายกรัฐมนตรีจึงได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 18 กันยายน 2566 แต่งตั้งคณะทำงานเร่งรัดพัฒนากรุงเทพมหานคร โดยมีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะทำงานด้วยตนเอง และมีผมเป็นรองประธาน เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานประสานและส่งเสริมกันอย่างไร้รอยต่อ ผมเชื่อว่านี่เป็นการริเริ่มที่ดี เราจะได้ทำงานอย่างใกล้ชิด และช่วยกันอุดช่องโหว่ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน และต่อจากนี้เราคงได้พบกันบ่อย ๆ ขอให้ท่านมั่นใจว่า ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผมพร้อมสนับสนุนท่านผู้ว่าฯ และกรุงเทพมหานครทุกเรื่อง ตราบใดที่ประชาชนได้ประโยชน์
“ผมใช้เขตอำนาจที่ตัวเองมีสนับสนุนภารกิจของผู้ว่าฯ กทม. ในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกรุงเทพมหานคร และพี่น้องชาว กทม. กระทรวงมหาดไทยเราทำงานกันอย่างเต็มที่ เราพร้อมที่จะเป็นเพื่อนที่ดีของท่าน เป็นเพื่อนร่วมงานที่จะให้ความร่วมมือทุกอย่างที่เรามีอยู่ในกระทรวงมหาดไทย ทำงานร่วมกันให้ นโยบายของของ กทม. บรรลุวัตถุประสงค์ บรรลุเป้าหมายทุกประการ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนทุกคน” นายอนุทินฯ กล่าวทิ้งท้าย