ข่าวประชาสัมพันธ์

จากสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย

ข่าวเช้าวันที่ 25 กันยายน 2566

มท.1 ตรวจเยี่ยม ปภ. ย้ำ “ทำงานแบบพี่น้อง” ชาว ปภ. ต้องเป็นผู้ที่รู้เท่าทันเหตุการณ์ ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเห็นความทุกข์ร้อนของพี่น้องประชาชน เป็นเรื่องเร่งด่วน “ลดความเสี่ยงเดิม ป้องกันความเสี่ยงใหม่” บริหารจัดการสาธารณภัย อุบัติภัย และอุบัติเหตุทางถนน อย่างมีประสิทธิภาพ

วันนี้ (25 ก.ย. 66) เวลา 10.30 น. ที่ห้องประชุม 1 อาคาร 3 ชั้น 5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ถนนนครราชสีมา เขตดุสิต กรุงเทพฯ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) ตรวจเยี่ยมและเป็นประธานมอบนโยบายการขับเคลื่อนงานกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยมี นายสมเจตน์ ลิมปะพันธุ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 1-18 และหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด 76 จังหวัด ร่วมรับมอบนโยบาย

โอกาสนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เยี่ยมชมนิทรรศการรำลึก 100 ปี พระที่นั่งนงคราญสโมสร บริเวณพระที่นั่งนงคราญสโมสร และเดินทางเข้าสู่อาคาร 3 ชั้น 5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เยี่ยมชมนิทรรศการระบบการแจ้งเตือนภัย แนวทางการบริหารจัดการสาธารณภัย พร้อมทั้งพบปะ “หน่วยบิน ปภ.” โดยมีนักบินเฮลิคอปเตอร์การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ KA-32 ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 4 ลำ ปฏิบัติภารกิจสนับสนุนในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทุกจังหวัดทั่วประเทศ บรรยายสรุปและแลกเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติการกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ถือว่าเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญ ต่อการรับมือกับภัยพิบัติที่ทั่วโลกเผชิญอยู่ โดยเฉพาะเมื่อสภาพภูมิอากาศกำลังเปลี่ยนแปลงไป บทบาทของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะหน่วยงานกลางในการจัดการสาธารณภัยของประเทศ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย โดยมีแนวนโยบาย เกี่ยวกับการจัดการสาธารณภัยของประเทศ ได้แก่

1. การเตรียมความพร้อมรับมือสาธารณภัยในภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาเอลนีโญ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรงในช่วงฤดูแล้งปีหน้า จึงขอให้จังหวัดเร่งกักเก็บน้ำไว้ให้เพียงพอสำหรับการใช้ตลอดปี

2. การช่วยเหลือผู้ประสบภัย ขอให้ติดตามสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมรับมือหากเกิดสถานการณ์ รวมถึงเตรียมเครื่องมือ เครื่องจักรกลสาธารณภัย เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยของจังหวัด

3. การอำนวยความสะดวก และดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ขอให้จังหวัดโดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด กำหนดมาตรการและแนวทางการดูแลความปลอดภัยของสถานที่ท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยว ได้แก่ 1) ให้มีป้ายแจ้งเตือน ป้ายบอกทางอพยพหลายภาษา ซึ่งตรวจสอบความถูกต้องของภาษาแล้ว ให้นักท่องเที่ยว 2) ให้มีเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยสถานที่ท่องเที่ยวทางน้ำ 3) ให้จังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลประสานผู้ประกอบการจัดให้มี Lifeguard หรือเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยชายฝั่ง

4. ความปลอดภัยทางถนน ขอให้ยึดเป้าหมายการลดอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศ ให้เหลือ 12 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน ภายในปี พ.ศ. 2570 โดยให้ 1) บูรณาการเจ้าหน้าที่ตำรวจบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เข้มงวดพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ เช่น การขับรถเร็ว เกินกว่ากฎหมายกำหนด ดื่มแล้วขับ ไม่สวมหมวกนิรภัย เป็นต้น 2) ให้หน่วยงานราชการกําชับให้ข้าราชการและบุคลากรปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น สวมหมวกนิรภัย ขณะขับขี่และซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ และการคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง เมื่อขับขี่รถยนต์

5. การยกระดับขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน ขอให้มุ่งเน้นให้ความรู้ในการประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านของอำเภอ และสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็งในการจัดการสาธารณภัย รวมทั้งให้มีการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย โดยอาศัยชุมชนเป็นฐานให้มากขึ้น

“ขอให้พวกเรามีวิถีในการทำงานแบบ “ทีมกระทรวงมหาดไทย” ที่ “ทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที” ซึ่งสำคัญมากสำหรับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่ต้องทำงานกับความเปลี่ยนแปลง และเผชิญวิกฤติอยู่เสมอ ขอให้ท่านเป็นผู้ที่รู้เท่าทันเหตุการณ์ ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเห็นความทุกข์ร้อนของพี่น้องประชาชน เป็นเรื่องเร่งด่วน” มท.1 กล่าวเพิ่มเติม

มท.1 กล่าวในช่วงท้ายว่า “ผมขอชื่นชมในภารกิจที่ผ่านมา และขอเป็นกำลังใจให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทุกท่านของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย “พวกเราทำงานแบบพี่น้อง” และตนพร้อมสนับสนุนการทำงานในการปฏิบัติภารกิจเพื่อช่วยให้ประเทศเราสามารถ “ลดความเสี่ยงเดิม ป้องกันความเสี่ยงใหม่” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้ประเทศไทยมีความมั่นคงปลอดภัย อย่างยั่งยืนสืบไป“