ข่าวประชาสัมพันธ์

จากสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย

ข่าวเช้าวันที่ 20 กันยายน 2566

มท.1 ให้การต้อนรับคณะกรรมาธิการแก้จนฯ วุฒิสภา พร้อมหารือแนวทางลดความเหลื่อมล้ำ เน้นย้ำ เป้าหมายของกระทรวงมหาดไทย คือ การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ทำให้ประชาชนมีความอุดมสมบูรณ์พูนสุขโดยถ้วนหน้า

วันนี้ (20 ก.ย. 66) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมราชสีห์ ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้การต้อนรับ นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา และคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และคณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ร่วมให้การต้อนรับ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การหารือในวันนี้ มีเป้าหมายเพื่อรับข้อเสนอแนะ คำแนะนำ และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นร่วมกันระหว่างคณะกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา กับคณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย เกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญและเร่งด่วนของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ทั้งยังเป็นนโยบายที่สำคัญอันดับต้นของกระทรวงมหาดไทย คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้ โดยการน้อมนำโครงการตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตลอดจนองค์ความรู้และหลักวิชาการในปัจจุบันมาประยุกต์ใช้ ซึ่งก็สอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ที่มีคุณภาพ เพื่อต่อยอดสู่ระดับสากล ที่ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการนำหลักการ Soft Power มาใช้ขยายผลต่อไป

นายอนุทิน ชาญวีรกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้กระทรวงมหาดไทยยังมีเป้าหมายในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชน ด้วยนโยบายต่าง ๆ อาทิ น้ำประปาดื่มได้ การส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด รวมทั้งการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ภายใต้การบริหารงานเชิงพื้นที่ของกระทรวงมหาดไทย ด้วยกลไกผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการ หรือ ผู้ว่า CEO ในการบูรณาการความร่วมมือ งบประมาณ ทรัพยากรจากภาคส่วนต่าง ๆ โดยยึดปัญหาและความต้องการของประขาชนที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่เป็นหลัก และมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ที่สามารถวัดผลได้ เพื่อสามารถบรรลุเป้าหมาย การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ทำให้ประชาชนมีความอุดมสมบูรณ์พูนสุขโดยถ้วนหน้า โดยให้ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยยึดหลักการทำงาน “ทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที” ซึ่งหมายถึง การรู้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไป สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และตอบสนองต่อทั้งวิกฤตและโอกาสได้อย่างรวดเร็ว

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา กล่าวว่า ตลอดการทำงานระยะเวลากว่า 4 ปี ของคณะกรรมาธิการฯ พบว่า ปัญหาสำคัญของความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น ที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน คือ ปัญหาน้ำเเล้งและปัญหาน้ำท่วม ซึ่งหน่วยงานภาครัฐได้ทำการศึกษาแนวทางและแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่มาโดยตลอด แต่ยังไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้สำเร็จ สิ่งสำคัญของการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม คือ การเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ประเทศไทยมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 760,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี แต่สามารถกักเก็บไว้ใช้ได้ประมาณร้อยละ 5.5 – 6 ของปริมาณน้ำฝนข้างต้น ดังนั้นแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและกักเก็บน้ำสำหรับการใช้อุปโภคและบริโภคในฤดูแล้งที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศของไทย คือ การสร้างฝายแกนดินซีเมนต์เก็บกักน้ำ ถือเป็นนวัตกรรมชาวบ้านที่มีความคุ้มค่า และใช้งบประมาณจำนวนไม่มาก เนื่องจากทำมาจากปูนผสมดิน ไม่มีโครงสร้างเหล็ก ซึ่งจะช่วยให้ทุกพื้นที่สามารถ “หน่วง ดัก กัก ชะลอ” น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วม โดยการรวบรวมข้อมูลผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo-social Map) ที่เป็นพื้นที่แหล่งน้ำธรรมชาติเดิม และนำข้อมูลเข้าสู่ระบบบริหารจัดการแผนงาน/โครงการและฐานข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ หรือ Thai Water Plan (TWP) ของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการใช้ประโยชน์วางเเผนการบริหารจัดการน้ำ และในระยะต่อไปกระทรวงมหาดไทยจะได้จะเร่งบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการนำแนวทาง และข้อแนะนำของคณะกรรมาธิการฯ พร้อมศึกษาแนวทางในการจัดทำและออกแบบฝายแกนดินซีเมนต์ รวมถึงกำหนดราคากลางที่เป็นมาตรฐาน เพื่อใช้ต่อยอดในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืนต่อไป