ข่าวประชาสัมพันธ์

จากสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย

ข่าวเช้าวันที่ 18 กันยายน 2566

มท.1 มอบนโยบายสำคัญสู่ภารกิจ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข”

มท.1 มอบนโยบายสำคัญสู่ภารกิจ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แก่ผู้ว่าฯ – หัวหน้าสำนักงานจังหวัด – ปลัดจังหวัด และถ่ายทอดไปทุกอำเภอ ทุก อปท. ณ ห้อง Convention ชั้น 4 อาคาร Convention Center โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร

กระทรวงมหาดไทยถือเป็นหน่วยงานที่ปฏิบัติงานใกล้ชิด และส่งผลต่อประชาชนโดยตรง จึงขอให้ท่านได้ร่วมกันขับเคลื่อน ทั้งภารกิจตามนโยบายของรัฐบาล (Agenda) ภารกิจตามอำนาจหน้าที่ (Function) และภารกิจเชิงพื้นที่ (Area) รวมทั้งขับเคลื่อนงานในฐานะผู้บัญชาการพื้นที่แทนรัฐบาล (Area Manager) ด้วย โดยมีนโยบายสำคัญ 10 ประเด็น คือ

1. การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้ โดยการน้อมนำแนวพระราชดำริมาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมไปถึงการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน จึงขอให้ทุกหน่วยงานน้อมนำเอาแนวพระราชดำริไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้ประชาชนมีความอุดมสมบูรณ์พูนสุขในทุก ๆด้าน รวมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้หลักการทรงงาน การนำมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติราชการและการพัฒนาพื้นที่หมู่บ้านและชุมชน

2. น้ำดื่มสะอาดฟรี ลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน ปัจจุบัน ประชาชนมีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพเพิ่มสูงขึ้นจากการซื้อน้ำดื่ม ดังนั้น เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายของประชาชน จึงขอให้การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปรับภารกิจจากเดิมที่ผลิตน้ำประปาเพื่อการอุปโภค (น้ำใช้) ให้เพิ่มการผลิตน้ำประปาสะอาดดื่มได้ รวมทั้งขอให้จัดเตรียมความพร้อมรถน้ำดื่มน้ำใช้เพื่อรับมือสถานการณ์เอลนีโญ ติดตั้งเครื่องกรองน้ำในชุมชน ให้บริการน้ำดื่มสะอาดแก่ประชาชนฟรี ในพื้นที่ที่ไม่มีแหล่งน้ำ ให้ใช้รถบรรทุกน้ำ ติดตั้งเครื่องกรองน้ำ ให้บริการประชาชนฟรี และในระยะยาว การประปาต้องพัฒนา ปรับปรุง ให้ประชาชน เชื่อมั่น น้ำประปา ดื่มได้

3. การลดค่าใช้จ่ายพลังงานไฟฟ้าและน้ำมันของทุกส่วนราชการ หลังจากเรื่องน้ำก็มีเรื่องไฟนะครับ ซึ่งเราจะเน้นการสร้างต้นแบบ ให้ประชาชนได้เห็นตัวอย่างของการใช้พลังงานทางเลือก ด้วยการส่งเสริมการติดตั้ง Solar Cell / Solar Rooftop ในสถานที่ราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และใช้กับไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะ นอกจากนี้ ยังต้องส่งเสริมสนับสนุนให้สถานที่ราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้จัดทำแผนปฏิบัติการ ด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality Road Map) ของแต่ละหน่วยงานเพื่อเป็นแผนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่การขับเคลื่อนนโยบาย Carbon Neutrality ในปี ค.ศ. 2050 ตลอดจนลดค่าใช้จ่ายน้ำมันของส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยพิจารณาจัดหารถพลังงานสะอาด อาทิ รถพลังงานไฟฟ้า (EV) ทั้งนี้ ขอให้พิจารณาจัดลำดับหน่วยงานที่มีความพร้อมและทำให้เป็นต้นแบบ เพื่อนำไปสู่การขยายผลนะครับ

4. พลังงานสะอาด มุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาด โดยสนับสนุนให้มีการติดตั้ง พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ในที่อยู่อาศัย เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่าย กระแสไฟฟ้าให้กับประชาชน รวมไปถึงการเพิ่มรายได้ จากการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าส่วนเกินที่ผลิตได้ให้แก่รัฐ ตลอดจนส่งเสริมให้ครัวเรือนและชุมชน สร้างรายได้ จากพลังงานสะอาด โดยการจัดตั้งธนาคารคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ทุกจังหวัด เช่น การปลูกไม้ยืนต้น การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน เพื่อจำหน่ายคาร์บอนเครดิตอย่างยุติธรรม และได้รับการยอมรับในระดับสากล

5. การจัดระเบียบสังคม ปราบปรามผู้มีอิทธิพล แน่นอนว่าเรื่องนี้กำลังเป็นที่สนใจของสังคม เมื่อพูดถึงคำว่า ปราบปรามผู้มีอิทธิพล คนทั่วไปมักคิดไม่ออกว่าต้องทำอย่างไร ก็ต้องมาตั้งหลักกัน ว่าคำว่า “ผู้มีอิทธิพล” ในที่นี้ หมายถึงคนที่ใช้อำนาจที่ตนมีในทางมิชอบ ไม่ว่าจะอำนาจเงิน หรืออำนาจจากสายสัมพันธ์ต่างๆ ซึ่งโดยสามัญสำนึก ทุกคนจะรู้ดีว่าการกระทำอย่างไร คือการใช้อำนาจเหล่านั้นในทางมิชอบ หน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย คือ มุ่งเน้นการจัดระเบียบสังคมเพื่อสร้างสังคมให้สงบสุข บ้านเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อย ปลอดอบายมุข ประชาชนมีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สิ่งใดที่ขัดกับความมุ่งหมายนี้ ก็คือสิ่งที่เราต้องใช้กลไกของรัฐในการกำจัด ให้สิ้นไป

6. การบริการประชาชนแบบ One Stop Service การมุ่งหน้าสู่ระบบรัฐบาลดิจิทัล เป็นแนวทางสำคัญของรัฐบาล ที่ถือเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้ประเทศในอีกรูปแบบหนึ่ง ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย เราจะนำเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ทันสมัยมาใช้ ในการปฏิบัติราชการ การทำธุรกรรม เพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใส ซึ่งนอกจากจะอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติราชการ และให้บริการ ประชาชนมากยิ่งขึ้นแล้ว ก็ยังเป็นการลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ขจัดช่องโหว่ที่เอื้อต่อการทุจริตอีกด้วย โดยเราจะยกระดับแพลตฟอร์มที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หรือพัฒนาแพลตฟอร์ม e-Service ขึ้นมาใหม่ ทั้งนี้ ต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้เกิดระบบที่เสถียรและเป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน

7. การอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยว หลักการดูแลนักท่องเที่ยวที่สำคัญ คือการสร้าง “ความปลอดภัย ความสะดวก และแรงดึงดูด” จึงต้องส่งเสริมให้จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วางแผนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว โดยบูรณาการจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ เพื่อจัดระเบียบพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สำหรับรองรับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม ประชาสัมพันธ์กิจกรรมแหล่งท่องเที่ยวโดยใช้ประโยชน์จากสื่อออนไลน์ รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการดูแลความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว ด้วยระบบ AI อัจฉริยะ ทั้งในด้านสาธารณภัย อุบัติภัย และความปลอดภัย ทางถนน

8. การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก การผลิต การตลาด และการจำหน่าย “มุ่งเน้นการลดรายจ่าย สร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ” เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน ทั้งในระดับครัวเรือนและชุมชน โดยกำหนดมาตรการเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน เช่น การน้อมนำหลักปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต การใช้ประโยชน์จากทุนชุมชน การพักหนี้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พร้อมทั้งกำหนดมาตรการ และแนวทางเพื่อเพิ่มรายได้ หลายเรื่องเป็นสิ่งที่ท่านดำเนินการต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่ขอเน้นย้ำ เรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนตามอัตลักษณ์ที่โดดเด่น (OTOP) ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการประสานกับภาคเอกชน เพื่อให้เข้าใจแนวโน้มตลาดมากขึ้น การสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ Soft Power ซึ่งจะนำสู่การส่งออกสินค้าเชิงวัฒนธรรม และนำหลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ให้ผู้ประกอบการในชุมชนท้องถิ่นเป็นหน่วยธุรกิจในการสร้างงานสร้างรายได้ตามแนวทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (Sustainable Economy) ด้วย

9. การแก้ไขปัญหายาเสพติด ต้องเป็นมาตรการเชิงรุก ต้องเน้นป้องกันไม่ใช่ปราบปราม และต้องกำหนดตัวชี้วัดการดำเนินงานที่ชัดเจน โดยผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องรับผิดชอบ หากมียาเสพติดในพื้นที่ ผู้รับผิดชอบเขตพื้นที่ต้องรับผิดชอบและรับผิดทางวินัย ฝ่ายปกครองต้องทำงานเชิงรุกและเชิงรบ เพื่อป้องกันยาเสพติดเข้าพื้นที่ตนเอง ต้องล้อมรั้วเขตปกครองตนเอง หากยาเสพติด อยู่บ้านใคร เจ้าของบ้าน เจ้าของพื้นที่ต้องรับผิดชอบและรับผิดฐานปล่อยปละละเลยให้ยาเสพติด ยาบ้า เข้ามาในบ้าน ในพื้นที่ตัวเอง ต้องมองว่าลูกบ้านคือลูกของเรา เราป้องกันลูกของเราอย่างไร ต้องป้องกันลูกบ้านแบบนั้น ใครเอายาเสพติดเข้าบ้านเรา เราจะจัดการเด็ดขาดอย่างไร ใครเอายาเสพติดเข้าพื้นที่ที่เรารับผิดชอบ เราก็ต้องจัดการเด็ดขาดแบบนั้นฝ่ายปกครองต้องตื่นตัวและป้องกันยาเสพติดเข้าพื้นที่ตัวเอง ถ้าทุกพื้นที่ป้องกันได้ ยาเสพติดจะไม่มีที่อยู่ในประเทศไทย

10. สนับสนุนการพัฒนาระบบสาธารณสุขปฐมภูมิ และการเตรียม ความพร้อมท้องถิ่นรองรับสังคมผู้สูงอายุ เพิ่มประสิทธิภาพระบบสาธารณสุขขั้นปฐมภูมิ และการสร้างเสริมสุขภาพเชิงป้องกัน โดยสนับสนุนการถ่ายโอนภารกิจ สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินีและโรงพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย พร้อมยกระดับให้ รพ.สต. เป็นหน่วยบริการ ปฐมภูมิใกล้บ้านที่มีคุณภาพ มีความพร้อมในการให้บริการ โดยให้ความสำคัญ กับบุคลากรทางด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะเรื่องค่าตอบแทน และสวัสดิการ และในประเด็นสังคมผู้สูงวัยนั้น องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น จะต้องทำงานกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ให้มีสถานชีวาภิบาลประจำท้องถิ่น เพื่อบริบาลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีจนวาระสุดท้าย เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงวัยอย่างครอบคลุมในทุกมิติ

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การบริหารงานเชิงพื้นที่ ให้เกิดผลต่อประชาชน จะใช้กลไกผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการ (ผู้ว่า CEO) ในการบูรณาการความร่วมมือ งบประมาณ ทรัพยากรจากภาคส่วนต่าง ๆ ยึดปัญหาและความต้องการของประชาชน ที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่เป็นหลัก และมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ ที่สามารถวัดผลได้ และสุดท้ายนี้ ขอให้ทุกท่านยึดหลักการทำงาน “ทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที”

“ทันโลก” คือ เข้าใจสถานการณ์โลก เพื่อจะรู้ผลกระทบต่อประเทศไทย และปรับตัวได้ทัน สามารถพัฒนายุทธศาสตร์ให้ประเทศของเราสามารถแข่งขันได้ และในยามที่สถานการณ์โลกผันผวน ก็สามารถพึ่งพาตนเองได้

“ทันสมัย” คือ เราต้องเข้าใจบริบทที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะทางเศรษฐกิจหรือสังคม เข้าใจค่านิยมของยุคสมัยใหม่ เพื่อจะสามารถเชื่อมคนทุกรุ่นเข้าด้วยกัน และสามารถใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนางานในทุกด้าน โดยเฉพาะในบริบทที่ประเทศได้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้ว การพัฒนาศักยภาพในการผลิตและรายได้ต่อหัวเป็นสิ่งสำคัญ พรรคการเมืองที่จะนำพาประเทศให้พัฒนาได้อย่างยั่งยืน จะต้องสามารถบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

สุดท้าย คำว่า “ทันท่วงที” หมายถึง การตัดสินใจได้อย่างแม่นยำรวดเร็ว ทันสถานการณ์ เพื่อให้รับมือกับ “วิกฤต” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อมี “โอกาส” ก็คว้าได้ทันอยู่เสมอ ภายใต้การบริหารงานของทีมจังหวัด ดังนี้

• รองผู้ว่าราชการจังหวัด ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัด ในการบริหารงานทุกด้าน

• หัวหน้าสำนักงานจังหวัด ทำหน้าที่เป็นเสนาธิการ เสนอเป้าหมาย แนวทางการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้สอดคล้องกับพื้นที่ ตลอดจนการประสาน ติดตามและประเมินผล

• ปลัดจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ที่ดินจังหวัด พัฒนาการจังหวัด โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ผู้จัดการ การประปาส่วนภูมิภาค ทำหน้าที่เป็นผู้แปลงนโยบายไปขับเคลื่อนตามภารกิจของส่วนราชการและหน่วยงานในระดับพื้นที่

• นายอำเภอ ทำหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบในการอำนวยการในระดับพื้นที่อำเภอเพื่อบูรณาการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

• ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำหน้าที่ร่วมขับเคลื่อน นโยบายตามภารกิจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

• กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทำหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบในการอำนวยการ ในระดับพื้นที่ตำบล หมู่บ้าน

โดยทั้งหมดนี้ ให้ใช้กลไกที่มีและหมั่นพิจารณาเสมอว่า คณะกรรมการต่าง ๆ และกฎระเบียบที่ใช้อยู่นั้น ยังส่งเสริมการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพอยู่หรือไม่ อะไรไม่จำเป็นให้ตัดออก อะไรที่ยังทำงานได้ดีก็ให้ปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเป็นการเติบโตของเศรษฐกิจ การพัฒนาทางสังคม รายได้ และมีความสุขและความพึงพอใจของประชาชน เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ

สุดท้ายนี้ ผมขอให้ทุกท่านมีความเบิกบานในการทำงาน และประสบความสำเร็จตามเป้าหมายของ “ทีมมหาดไทย” ทุกประการ