ข่าวประชาสัมพันธ์

จากสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย

ข่าวเช้าวันที่ 24 กรกฎาคม 2566

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดงานสมัชชาการจัดการสาธารณภัยระดับชาติ เน้นย้ำ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ต้องบูรณาการข้อมูลและเครื่องมือที่มี ร่วมกันป้องกันและลดความเสี่ยงสาธารณภัยอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประเทศไทยที่มั่นคงปลอดภัยอย่างยั่งยืน

วันนี้ ( 24 ก.ค. 66 ) เวลา 09.30 น. ที่ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 4 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ กรุงเทพมหานคร พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) เป็นประธานในพิธีเปิดงานสมัชชาการจัดการสาธารณภัยระดับชาติ ภายใต้แนวคิด “ลดความเสี่ยงเดิม ป้องกันความเสี่ยงใหม่ เสริมสร้างหุ้นส่วนการจัดการภัย เพื่อสังคมไทยปลอดภัยอย่างยั่งยืน” โดยมี นายนริศ ขำนุรักษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.3) นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ ร้อยโท วโรดม สุจริตกุล ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช) นายสมศักดิ์ เจริญไพฑูรย์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นางจุรีรัตน์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ผู้แทนกระทรวง ผู้แทนหน่วยงาน รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสื่อมวลชน ร่วมในงาน

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า งานสมัชชาการจัดการสาธารณภัยระดับชาติของประเทศไทยในครั้งนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพี่น้องประชาชนและประเทศชาติ เนื่องจากเป็นเวทีที่จะส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทั้งในประเทศและระหว่างประเทศในทุกระดับ ให้มาร่วมกันในการวางแนวทางและกรอบการดำเนินงานในด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เริ่มตั้งแต่ การลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย ก่อนการเกิดสาธารณภัย และการจัดการในภาวะฉุกเฉิน (Emergency Management) ระหว่างการเกิดสาธารณภัย และการฟื้นฟู (Recovery) ภายหลังเกิดสาธารณภัย ซึ่งการดำเนินการและการอำนวยการด้านสาธารณภัยดังกล่าวทั้งหมดนั้นจะสำเร็จได้หากเกิดจากการร่วมมือและบูรณาการของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดทำและวางแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนกรอบปฏิญญาเซนได เรื่องการลดภาวะเสี่ยงต่อภัยพิบัติปี 2558 – 2573 (Sendai Framework for Disaster Risk Reduction 2015-2030) ที่องค์การสหประชาชาติ ร่วมกับอีก 187 ประเทศ โดยประเทศไทย ได้ดำเนินการภายใต้กรอบ “สังคมไทยสามารถลดความเสี่ยงเดิม ป้องกันความเสี่ยงใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงอย่างปลอดภัยและยั่งยืน”

ภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือสาธารณภัย (Disaster) ที่หลายประเทศทั่วโลกได้เผชิญอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือประเทศกำลังพัฒนา ทุกประเทศทั่วโลกล้วนต้องเจอปรากฏการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติทั้งสิ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและยากที่จะสามารถหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นการจัดการสาธารณภัยจึงเป็นประเด็นท้าทายที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยเฉพาะด้านการสร้างความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนในการจัดการสาธารณภัย เพื่อจะทำให้มนุษย์โลกหรือประชาชนทุกคน มีความปลอดภัยจากการเผชิญภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นได้ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และกรอบการดำเนินงานเซนได กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะนำไปสู่ “การลดความเสี่ยงเดิมและป้องกันความเสี่ยงใหม่” ร่วมกัน สำหรับประเทศไทยเรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง ทั้งจากปรากฏการณ์ลานีญา ในปีที่ผ่านมา และปรากฏการณ์เอลนีโญ ในปีนี้ ทำให้เกิดฝนทิ้งช่วง ส่งผลต่อปริมาณน้ำในการอุปโภคบริโภคที่ลดน้อยลง หรือเกิดปรากฏการณ์แผ่นดินไหวตามแนวรอยเลื่อนที่ไม่เคยเกิดขึ้น นอกจากนี้ประเทศไทยยังเคยประสบภัยจากสึนามิ ซึ่งจากภัยพิบัติดังกล่าว ทำให้เราต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการประเมินความเสี่ยงเพื่อกำหนดมาตรการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย ทั้งมาตรการเชิงโครงสร้างและไม่ใช่โครงสร้างที่สอดคล้องกับบริบทและความเสี่ยงในพื้นที่ การเตรียมความพร้อมของทรัพยากรเพื่อการปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉินให้ทันต่อสถานการณ์ ตลอดจนการช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัยหลังเกิดภัยพิบัติ ทั้งการฟื้นฟูสภาพจิตใจ การฟื้นฟูอาชีพ การซ่อมสร้างที่อยู่อาศัยและสิ่งสาธารณูปโภค เพื่อให้เกิดการฟื้นคืนกลับที่ดีกว่าและปลอดภัยกว่าเดิม (Build back better and safer) โดยการดำเนินการดังกล่าวมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความร่วมมือและการบูรณาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน” พลเอก อนุพงษ์ฯ กล่าว

พลเอก อนุพงษ์ฯ กล่าวต่ออีกว่า แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 – 2570 ของประเทศไทยที่ผ่านมา ได้มุ่งเน้นในการยกระดับการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยไปสู่มาตรฐานสากล ซึ่งมียุทธศาสตร์แบ่งออกเป็น 2 ส่วนสำคัญ ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 การลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการลดความเสี่ยงระดับชาติและระดับท้องถิ่น ของ Sendai Framwork กล่าวคือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องดำเนินการตามกรอบแนวทาง เพื่อช่วยกันลดความเสี่ยงสาธารณภัย โดยใช้ข้อมูลในการประเมินความเสี่ยง ก่อนที่จะจัดทำโครงสร้างในด้านสาธารณูปโภคในพื้นที่ โดยใช้เครื่องมือที่ทุกหน่วยงานมีอยู่แล้ว อาทิ GISTDA หรือ ผังเมือง มาใช้ในการบูรณาการข้อมูลเพื่อลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยอย่างมีประสิทธิภาพ และส่วนที่ 2 การจัดการสาธารณภัยให้มีมาตรฐาน ซึ่งประเทศไทยมีความเข้มแข็ง ในด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอยู่แล้ว เพราะว่าเรามีกรอบแนวทางทั้งในระดับชาติ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ตลอดจนถึงระดับพื้นที่ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยท้องถิ่น จึงทำให้เมื่อเกิดเหตุสาธารณภัยในประเทศไทย เราสามารถตอบสนอง (Response) ต่อเหตุการณ์อย่างทันท่วงที มีความเข้มแข็ง ซึ่งจะดียิ่งไปกว่านั้นได้ คือ การทำให้ผู้ประสบภัยได้มีที่อยู่อาศัยที่ดี มีอาหารการกินที่ดี มีความเป็นอยู่ที่ดีหลังจากที่เกิดสาธารณภัย เพราะผมเคยไปเยี่ยมพี่น้องประชาชนที่เคยประสบอุทกภัย และได้ทราบจากชาวบ้านว่า หลังจากเผชิญสาธารณภัย ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ พื้นที่สวน ไร่ นา ของชาวบ้านได้รับความเสียหายทั้งหมด จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องช่วยกันหาแนวทางว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนได้รับผลกระทบให้น้อยที่สุด และนั่นคือการลดความเสี่ยงในขั้นแรก

สิ่งสุดท้ายของการเผชิญภัยสาธารณะ คือ การฟื้นฟู (Recovery) ตามแนวทาง Build and Better คือ ที่ใดที่เกิดสาธารณภัยแล้วก็ต้องไม่ทำให้เกิดซ้ำ หรือหากเกิดซ้ำ ต้องทำให้ได้รับผลกระทบให้น้อยที่สุด โดยต้องมีโครงสร้างที่ดีกว่าเดิม ดังเช่นที่จังหวัดน่าน มีหมู่บ้านที่เกิดอุทกภัย ทุกครัวเรือนได้รับความเสียหาย ทางภาครัฐจึงได้บูรณาการร่วมกันกับข้อมูลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการจัดหาพื้นที่จัดตั้งที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม โดยการอพยพไปจัดสร้างหมู่บ้านในพื้นที่ใหม่ ที่มีที่ตั้งที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าที่เดิม โดยประเมินจากข้อมูลของหน่วยงาน ทำให้ลดความเสี่ยงในการเกิดภัยพิบัติซ้ำ สามารถป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างยั่งยืน” พลเอก อนุพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

พลเอก อนุพงษ์ฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า งานสมัชชาการจัดการสาธารณภัยระดับชาติที่จัดขึ้นในครั้งนี้ จะมีความท้าทายอย่างยิ่ง คือ การที่พวกเราจะทำอย่างไรเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดสาธารณภัย ของประเทศไทยตามกรอบ Sendai Framwork ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งการลดความเสี่ยงให้สำเร็จได้นั้น ต้องอาศัยกรอบและแนวทางจากที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะในการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติและการนำเครื่องมือที่ทุกหน่วยงานมีมาใช้ในการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ รวมถึงให้ข้อเสนอแนะและแนวทางในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยผลักดันการพัฒนางานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของประเทศ นำไปสู่การลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยได้จริงและเป็นรูปธรรม

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 – 2570 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 โดยแผนดังกล่าวได้วางยุทธศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วน (Partnership) ในการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน “ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา” รวมทั้งกำหนดนโยบายร่วมกัน นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีสมัชชาการจัดการสาธารณภัยเพื่อใช้เป็นเวทีระดับชาติที่เปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และเรียนรู้ร่วมกัน รวมถึงค้นหาทางออกในประเด็นปัญหาที่แต่ละภาคส่วนให้ความสำคัญ และนำไปสู่การเสนอแนะ และจัดทำนโยบายสาธารณะในการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยของประเทศอย่างเป็นระบบและมีส่วนร่วม โดยจัดให้มีการประชุมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้จัดงานสมัชชาสาธารณภัยระดับชาติครั้งนี้ขึ้นเป็นครั้งแรก ภายใต้แนวคิด “ลดความเสี่ยงเดิม ป้องกันความเสี่ยงใหม่ เสริมสร้างหุ้นส่วนการจัดการภัย เพื่อสังคมไทยปลอดภัยอย่างยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 24 – 25 กรกฎาคม 2566 โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ ดังนี้ 1) เพื่อเป็นเวทีให้หน่วยงาน องค์กร เครือข่ายทุกภาคส่วนในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ องค์ความรู้ ประสบการณ์ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในทุกระดับ 2) เพื่อเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วน (Partnership) ในการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยแบบบูรณาการ ภายใต้แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2564 – 2570 ให้บรรลุเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม และ 3) เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเสนอแนะแนวทางอันจะนำไปสู่การจัดทำนโยบายสาธารณะด้านการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยของประเทศ” นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าว

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวเพิ่มเติมว่า รูปแบบการดำเนินงาน มีกิจกรรมสำคัญ ประกอบด้วย 1) การประชุมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากหน่วยงานในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อนำมาเป็นข้อเสนอนโยบายการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยอย่างยั่งยืน 2) การจัดเวทีด้านวิชาการ มีการบรรยายและการเสวนาวิชาการ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้บริหารของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 3) การจัดนิทรรศการแสดงผลงาน ผลการวิจัยและนวัตกรรมเกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งผลที่ได้รับจากการจัดงานสมัชชาการจัดการสาธารณภัยในครั้งนี้ จะได้นำไปขับเคลื่อนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการผลักดันกำหนดเป็นนโยบายสาธารณะในการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยของประเทศ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายสูงสุด คือ “การรู้รับ – ปรับตัว – ฟื้นเร็วทั่ว – อย่างยั่งยืน (Resilience)”