ข่าวประชาสัมพันธ์

จากสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย

ข่าวเช้าวันที่ 7 กรกฎาคม 2566

มท.1 ประชุมขับเคลื่อนงาน 11 ด้าน ร่วมกับผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ เน้นย้ำ การเป็นข้าราชการที่ดีต้องยึดหลัก “ธรรมาภิบาล” ตั้งใจทำหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ตอบสนองความต้องการประชาชน

วันนี้ (7 ก.ค. 66) เวลา 15.00 น. ที่ห้องประชุมราชสีห์ ชั้น 2 ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ผ่านระบบ Video Conference โดยมี นายนริศ ขำนุรักษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.3) พร้อมด้วยผู้บริหารฝ่ายข้าราชการการเมือง นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แพทย์หญิงวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดในสังกัดกระทรวงมหาดไทย นายอำเภอ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมากลไกของกระทรวงมหาดไทยได้ทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนได้อย่างดีเยี่ยม ต้องขอขอบคุณพวกเราชาวมหาดไทยทุกคน ตั้งแต่ผู้บริหารส่วนกลาง ผู้ว่าราชการจังหวัด ตลอดจนถึงนายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ผู้นำท้องที่ ผู้บริหาร ข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกคน ที่ช่วยกันสืบทอดปณิธาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้แก่พี่น้องประชาชนชาวไทย ทำให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานแกนหลักในการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ซึ่งไม่ได้ทำหน้าที่ตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานเพียงอย่างเดียว ยิ่งไปกว่านั้นกระทรวงมหาดไทยยังเป็นแกนหลักในการสนับสนุนบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานในทุกกระทรวง ทุกหน่วยงาน เป็นทั้งหน่วยงานสนับสนุนอำนวยการในพื้นที่ หรือเป็นหน่วยงานที่คอยประสานนำแนวนโยบายไปสู่พื้นที่ ทั้งในยามสถานการณ์ปกติหรือยามเกิดวิกฤตการณ์ภัยธรรมชาติหรือโรคระบาด โดยมีเป้าหมาย “เพื่อทำให้ประชาชนทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี” โดยสิ่งสำคัญที่ต้องเน้นย้ำในการเป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และข้าราชการของกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะผู้มีอำนาจหน้าที่ในการปกครองประชาชนในระดับพื้นที่ คือ “ผู้ว่าราชการจังหวัด” หรือที่เราเรียกว่า “พ่อเมือง” ตลอดจนรองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด หัวหน้าสำนักงานจังหวัด นายอำเภอ และหัวหน้าส่วนราชการทุกตำแหน่ง ต้องตระหนักและยึดมั่นใน “หลักธรรมาภิบาล” ให้มากที่สุด โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางอยู่เสมอ เพราะเราทุกคนปฏิบัติหน้าที่ที่มีผลกระทบต่อประชาชน จึงต้องคำนึงถึงประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติอย่างสูงสุด

จากการติดตามการดำเนินงานและแนวทางการบริหารราชการในพื้นที่ สิ่งที่ตนจะขอเน้นย้ำกับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ คือ 1) “ปัญหาขยะและปัญหาน้ำเน่าเสีย” ซึ่งเป็นวาระระดับชาติ เป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกคนต้องช่วยกันแก้ไขปัญหา ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่ไม่ได้เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะการแก้ปัญหาเหล่านี้จะสำเร็จได้หากผู้ว่าราชการจังหวัดให้ความสำคัญและทำอย่างจริงจัง เป็นผู้นำการขับเคลื่อนด้วยตนเอง 2) “ปัญหายาเสพติด” ประเทศไทยจะดีขึ้น น่าอยู่ขึ้น หากไม่มีปัญหายาเสพติด ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง ได้ดำเนินโครงการศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม นำผู้ป่วยยาเสพติดกลุ่มสีเขียวเข้ารับการอบรม บำบัด ฟื้นฟู ทั้งร่างกายและจิตใจ จำนวน 15 วัน เพื่อให้ทุกคนได้กลับสู่สังคมอย่างปกติสุข ซึ่งนอกจากจะอบรมแล้วยังต้องมีการติดตามผู้ที่ผ่านการอบรมโดยนายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่รับผิดชอบในการติดตามและรายงานผล พร้อมให้การช่วยเหลือดูแลทั้งผู้ผ่านการอบรมและครอบครัว ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่ต้องทำต่อไปหลังจากติดตาม คือ ให้การสนับสนุน ให้กำลังใจคนเหล่านั้น ให้ทุกคนสามารถ “พึ่งพาตนเองได้” มีอาชีพ มีรายได้ ด้วยการบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนลงพื้นที่ไปให้การสนับสนุน อาทิ ร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานสร้างเสริมทักษะอาชีพ หรือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการเกษตร การทำมาหากิน ซึ่งหากทำที่กล่าวมาได้ จะส่งผลให้เกิดการลด Demand Side ทำให้ผู้ป่วยสีเขียว ไม่เป็นสีเหลือง หรือสีแดง แล้ว Supply Side ก็จะลดตาม ดังนั้น “ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ จึงต้องคอยกำชับและติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้ยาเสพติดหมดไปจากสังคมไทย”” พลเอก อนุพงษ์ฯ กล่าว

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวต่ออีกว่า 3) เรื่องการประชาสัมพันธ์การใช้งานยืนยันตัวตนผ่านระบบดิจิทัล หรือดิจิทัลไอดีผ่านแอปพลิเคชัน “ThaID” ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการขับเคลื่อนและพัฒนาภาครัฐไปสู่ระบบดิจิทัล ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสร้างการรับรู้อย่างง่าย ๆ อย่างต่อเนื่องให้ประชาชนทุกคนเห็นความสำคัญของแอปฯ ThaiD คือ เมื่อโหลดแล้วจะได้รับ “บัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์” เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในการรับบริการภาครัฐ อีกทั้งใช้ระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนผ่านระบบดิจิทัลไอดีในการใช้บริการภาครัฐและเอกชนได้ ประชาชนทุกคนก็จะได้รับประโยชน์ และเราก็จะเข้าสู่สังคมบริการภาครัฐดิจิทัลอย่างแท้จริง 4) “การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์” ซึ่งปัจจุบันทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญกับปัญหาการค้ามนุษย์ และที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศให้ประเทศไทยเคยอยู่ในประเทศระดับ 2 (Watch list Tier 2) ในเรื่องการค้ามนุษย์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมาก กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จึงได้ดำเนินโครงการจังหวัดนำร่อง “ศูนย์บูรณาการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์” เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ใน 10 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ เชียงใหม่ หนองคาย ตาก อุบลราชธานี กาญจนบุรี สระแก้ว สมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง และสงขลา จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดช่วยกำชับ ดูแล และอำนวยความสะดวกในการดำเนินการดังกล่าว รวมไปถึง 5) เรื่อง “การทำบัตรประชาชนเคลื่อนที่” ต้องสร้างจิตสำนึกให้ข้าราชการเห็นประชาชนอยู่ในหัวใจ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนหรือทุพพลภาพ ไม่สะดวกในการติดต่อทำบัตรประชาชน อันจะส่งผลต่อสวัสดิการต่าง ๆ จากภาครัฐ ขอให้นายอำเภอในฐานะผู้บังคับบัญชาช่วยตรวจสอบและเน้นย้ำกับปลัดอำเภอ พนักงานฝ่ายปกครองที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการอย่างรอบคอบและคำนึงถึงประชาชนอยู่เสมอ ซึ่งทั้งหมดเป็นภารกิจของกระทรวงมหาดไทย ไม่ว่าจะทำดีหรือไม่นั้น ก็ส่งผลทั้งต่อภาพลักษณ์หน่วยงานและประเทศด้วย

ในเรื่องที่ 6) การเตรียมการรับมือฤดูฝนที่จะถึงนี้ เนื่องจากปีนี้โลกกำลังเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนีโญ เกิดฝนตกน้อย ฝนตกทิ้งช่วง ทำให้มีน้ำในการอุปโภคบริโภคน้อยในบางพื้นที่ จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและปริมาณน้ำอย่างใกล้ชิด รวมถึงหาแนวทางแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำหรือการกักเก็บน้ำฝนให้มากที่สุด รวมทั้งบางพื้นที่เกิดฝนตกหนักจนน้ำท่วม ก็ต้องระบายน้ำและบริหารจัดการเก็บไว้ใช้ประโยชน์ ดังนั้น ผู้ว่าฯ ต้องประสานกับ ปภ.จังหวัด และกรมชลประทานในพื้นที่ นำเครื่องมือและเครื่องจักรกล ไปบริหารจัดการน้ำในพื้นที่น้ำท่วม เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฝนทิ้งช่วง เพื่อนำน้ำเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ นอกจากนี้ต้องเตรียมข้อมูลเพื่อประเมินสถานการณ์และปริมาณน้ำ เพื่อเตรียมพร้อมหากเกิดฝนทิ้งช่วง รวมถึงบูรณาการ “ผังภูมิสังคม (Geo-Social Map)” ข้อมูลด้านแหล่งน้ำสาธารณูปโภคทั้งหมด เพื่อให้ได้ข้อมูลถูกต้อง ละเอียดและแม่นยำ สามารถนำไปวางแผนบริหารจัดการน้ำได้ และเรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือ 7) เรื่องการฝึกอบรมอัคคีภัยหรือดับเพลิง เนื่องจากมีเหตุการณ์ถังดับเพลิงระเบิดขณะการฝึกอบรม ทำให้นักเรียนเสียชีวิต จึงขอย้ำให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและผู้ว่าราชการจังหวัด แจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบถังดับเพลิงในพื้นที่อย่างเข้มงวด และต้องสร้างการรับรู้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ของถังดับเพลิง เพื่อไม่สร้างความหวาดกลัวของเด็ก เยาวชน และประชาชน ทำให้สังคมทราบและเข้าใจ เพราะการอบรมยังเป็นสิ่งที่จำเป็นและต้องทำเพราะเกี่ยวข้องกับความปลอดภัย แต่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยผู้รับการอบรมและมาตรฐานการฝึกอบรม ทั้งสถานที่และวัยผู้อบรม รวมไปถึงวิธีการที่เหมาะสม และ 8 ) การป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ ต้องรณรงค์สวมหมวกนิรภัยให้คนไทยตระหนักต่อความปลอดภัยในชีวิตอย่างจริงจังต่อไป” พลเอก อนุพงษ์ฯ กล่าว

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวเพิ่มเติมว่า 9) เรื่องของ “การบริหารจัดการขยะ” ภายใต้คณะกรรมการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจังหวัด ต้องส่งเสริมให้ประชาชนจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน เชื่อมโยงกับการประเมินคาร์บอนเครดิต ที่นอกจากจะช่วยลดสภาวะโลกร้อนแล้ว ยังสร้างรายได้ให้ท้องถิ่นอีกด้วย 10) เรื่อง “โรคไข้เลือดออก” เริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้น ต้องช่วยกันรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันดูแลและกำจัดแหล่งกำเนิดลูกน้ำยุงลาย เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนเจ็บป่วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและอาจเสียชีวิตได้ และ 11) เรื่องการแก้ไขปัญหาการประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร การออกใบอนุญาตโรงแรม ซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้แก้ไขเพิ่มเติม กฎกระทรวงกำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2566 เรียบร้อยแล้ว จึงต้องเน้นย้ำผู้ประกอบการโรงแรมที่ไม่ถูกกฎหมายให้ทำการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องและขออนุญาตอย่างถูกต้องเพื่อไม่ให้กระทบต่อการดำเนินกิจการ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว และหากไม่ดำเนินการ ทางภาครัฐจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยทุกหน่วยงาน มุ่งมั่นตั้งใจในการดำเนินการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายได้ให้อำนาจไว้อย่างเต็มกำลังความสามารถ ดังปณิธาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้มีชีวิตที่เป็นปกติสุข กินดี อยู่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี อันจะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผาสุก ประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน