ข่าวประชาสัมพันธ์

จากสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย

ข่าวเช้าวันที่ 2 เมษายน 2566

มท.1 ลงพื้นที่จังหวัดพัทลุง ประชุมติดตามการขับเคลื่อนงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุข เน้นย้ำ มุ่งแก้ไขปัญหายาเสพติดทำให้ประเทศไทยปลอดยาเสพติดอย่างยั่งยืน

วันนี้ (2 เม.ย. 2566) เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุมกาบบัวชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดพัทลุง อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมติดตามการปฏิบัติราชการตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่จังหวัดพัทลุง โดยนายนริศ ขำนุรักษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย นายบุญธรรม หอไพบูลย์สกุล รองอธิบดีกรมที่ดิน นายสมศักดิ์ เจริญไพฑูรย์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นายเธียรชัย ชูกิตติวิบูลย์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายเอกวิทย์ มีเพียร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ว่าที่ร้อยเอก ธีรพงศ์ ครุธดิลกานันท์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายชูชีพ พงษ์ไชย รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางสาวปาณิสรา กาญจนะจิตรา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะร่วมลงพื้นที่ โดยมี นางนิศากร วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง นายฉัตรชัย อุสาหะ นายก้องสกุล จันทราช รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง พร้อมหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดพัทลุง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ได้มาเยี่ยมเยียนและได้มาพูดคุยหารือกับส่วนราชการในพื้นที่จังหวัดพัทลุง โดยเรื่องสำคัญที่จะต้องขับเคลื่อนอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง คือ ปัญหายาเสพติด ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายในการจัดตั้งและขับเคลื่อนศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมจังหวัด โดยให้กระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง ดำเนินการประสานให้มีการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมจังหวัดในทุกอำเภอ เพื่อนำผู้ป่วยยาเสพติดมาเข้ารับการอบรมและสามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างปกติสุข แต่จากตัวเลขทางสถิติของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าผู้ที่เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูมีโอกาสกลับมาเสพยาเสพติดอีกมากกว่าร้อยละ 70 ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือ เราต้องทำอย่างไรไม่ให้ผู้ที่ผ่านการอบรมดังกล่าวกลับไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีก เพราะคนเหล่านี้จะทำให้เกิด Demand Side ที่จะทำให้เกิด Supply Side ขึ้น และยาเสพติดยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มมากยิ่งขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม สำคัญอยู่ที่การติดตามผู้ที่ได้รับการบำบัดไปแล้ว เป็นระยะเวลา 5 ปีนั้น ต้องมีแผนการติดตามให้ชัดเจนว่าจะมีติดตามตลอด 5 ปีอย่างไร รวมถึงการกำหนดหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ รพ.สต. ในการติดตามให้ชัดเจนด้วย

สิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้ป่วยยาเสพติด คือ ครอบครัว ชุมชน และสถานศึกษา ต้องสอดส่องดูแล นอกจากนี้ การฝึกทักษะอาชีพ ทักษะแรงงาน เป็นสิ่งที่จะทำให้คนเหล่านี้มีตัวตนในสังคม และมีอาชีพ สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ เป็นปัจจัยที่ทำให้ไม่กลับไปยุ่งกับยาเสพติดอีก ดังนั้นผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และนายอำเภอ ต้องจับมือสถานศึกษาในจังหวัด ช่วยกันสนับสนุนและพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพให้แก่ผู้ป่วยยาเสพติด เพราะจังหวัดพัทลุง มีสถานศึกษา มีวิทยาลัยต่าง ๆ มากมาย จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้พัฒนาคนเหล่านี้ให้กลับมาสร้างคุณค่า สร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้กับสังคม ตัวอย่างทักษะที่ควรส่งเสริม เช่น ทักษะด้านการก่อสร้าง ด้านช่าง ด้านการโรงแรม ซึ่งอาชีพเหล่านี้ เป็นอาชีพที่มีรายได้ไม่น้อยและเป็นทักษะเฉพาะ ถือเป็นอีกทางเลือกที่ดีในการประกอบอาชีพ ดังนั้นการพัฒนาให้คนเหล่านี้มีทักษะอาชีพถือเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องดึงกลุ่มเหล่านี้ให้มาเข้าร่วมกับสถานศึกษาให้ได้ นอกจากนี้ ต้องใช้กลไก นายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นกำลังสำคัญในการติดตามและช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ป่วยในพื้นที่ เพราะผู้นำท้องที่มีทุกหมู่บ้าน/ชุมชน จะสามารถช่วยกันแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ได้ ขอเป็นกำลังใจให้กับจังหวัดพัทลุงในการแก้ไขปัญหายาเสพติดซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติที่ทุกคนต้องช่วยกันทำให้ประเทศไทยปลอดจากยาเสพติดให้ได้” พลเอก อนุพงษ์ฯ กล่าว

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกหนึ่งการขับเคลื่อนงานที่สำคัญ คือ การดำเนินขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งหลังจากดำเนินการโดยการค้นหาแบบพุ่งเป้าของ ศจพ. แล้ว ต้องให้หน่วยงานที่มีงบประมาณตามอำนาจหน้าที่ (Function) เช่น เกษตรจังหวัด ประมงจังหวัด ลงไปแก้ปัญหาความยากจนเหล่านั้น โดยผู้ว่าราชการจังหวัด และปลัดจังหวัด ซึ่งมีนายอำเภอเป็นขุนศึกใหญ่และเป็นผู้นำในการลงพื้นที่ต้องพุ่งเป้าลงไปหาจุดอ่อน ไปช่วยกันทำให้พี่น้องประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องขอขอบคุณและขอชื่นชมจังหวัดพัทลุงที่สามารถดำเนินการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยฯ ที่ดำเนินการโครงการต่าง ๆมากมาย และทำจนเกิดเป็นรูปธรรม และในเรื่องสุดท้าย คือ การบริหารจัดการน้ำในจังหวัดพัทลุง ซึ่งสถานการณ์โลกปัจจุบัน กำลังเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนินโย (El-NINO) ในเดือน เมษายนถึงพฤษภาคม 2566 อาจไม่มีฝนตก ดังนั้น ปภ.จังหวัดและโครงการชลประทานพัทลุง ต้องเร่งประเมินระดับน้ำในพื้นที่ว่ามีเพียงพอที่จะใช้ได้ถึงเดือนพฤษภาคมหรือไม่ และถ้ามีระดับน้ำไม่เพียงพอจะมีวิธีการหาน้ำสำรองอย่างไร และต้องเตรียมความพร้อมครอบคลุมไปถึงปี 2567 ด้วย

นายนริศ ขำนุรักษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การที่ได้มาตรวจราชการที่จังหวัดพัทลุงซึ่งเป็นถิ่นบ้านเกิดของตนเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และขอขอบคุณส่วนราชการทุกส่วนที่ให้ความร่วมมือและพร้อมสนับสนุนทำงานเพื่อประชาชน

นางนิศากร วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า จังหวัดพัทลุงได้ดำเนินการจัดตั้งและขับเคลื่อนศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมในจังหวัดและสาขาอำเภอ 11 อำเภอ โดยมีกำหนดหลักสูตร 15 วัน จำนวน 19 รุ่น รุ่นละ 50 คน รวมผู้เข้ารับการอบรมทั้งสิ้น 950 คน โดยจังหวัดพัทลุงได้พิจารณาคัดเลือกให้ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมในจังหวัดพัทลุง สาขาอำเภอศรีนครินทร์ เป็นศูนย์ฟื้นฟูสภาพสังคมต้นแบบ นอกจากนี้จังหวัดพัทลุงยังได้ขับเคลื่อนโครงการ TO BE NUMBER ONE อย่างต่อเนื่อง โดยได้รับรางวัลจากการประกวดจังหวัดอำเภอชมรม TO BE NUMBER ONE ประเภทต่าง ๆ จำนวนถึง 7 รางวัล