ข่าวประชาสัมพันธ์

จากสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย

ข่าวเช้าวันที่ 23 ธันวาคม 2565

มท.1 เปิดเทศกาลแสง สี เสียง “จากแสงแรกแห่งสยามสู่พิพิธภัณฑ์การไฟฟ้าไทย” พิพิธภัณฑ์การไฟฟ้าไทยจุดประกายจินตนาการการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุดในเรื่องของการไฟฟ้าไทยและเป็นการส่งมอบความภาคภูมิใจของการไฟฟ้านครหลวง กระทรวงมหาดไทยไปสู่ความภาคภูมิใจของคนไทยทุกคน

วันนี้ (23 ธ.ค. 65) เวลา 18.00 น. ณ พิพิธภัณฑ์การไฟฟ้าไทย อาคาร 1 การไฟฟ้านครหลวง ถนนจักรเพชร เขตวัดเลียบ แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดงานเทศกาล “แสง สี เสียง จากแสงแรกแห่งสยามสู่พิพิธภัณฑ์การไฟฟ้าไทย” โดยมี นายเขมพล อุ้ยตระกูล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทยด้านบริหาร นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดินและประธานคณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง และภาคีเครือข่าย ร่วมในงาน โดยมี นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง พร้อมด้วยผู้บริหารการไฟฟ้านครหลวง ร่วมให้การต้อนรับ

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กิจการไฟฟ้าในประเทศไทย เริ่มต้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จากจุดเริ่มต้นแสงแรกแห่งสยาม ยุคแรกเริ่มของกิจการไฟฟ้า โดยกระทรวงมหาดไทยร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง ได้ร่วมกันวางรากฐานความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศมาอย่างยาวนาน จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่การไฟฟ้านครหลวงได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์การไฟฟ้าไทยขึ้น เพื่อรวบรวมประวัติศาสตร์ ถ่ายทอดประสบการณ์ และจุดประกายการเรียนรู้ด้านพลังงานไฟฟ้าให้แก่เยาวชน โดยกระทรวงมหาดไทย พร้อมที่จะร่วมผลักดันในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การไฟฟ้าไทยให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

“งานเทศกาล แสง สี เสียง “จากแสงแรกแห่งสยาม…สู่พิพิธภัณฑ์การไฟฟ้าไทย”” เป็นอีกหนึ่งโครงการเนื่องในโอกาสการสถาปนากระทรวงมหาดไทย ครบ 130 ปี ที่จะมอบความสุขให้แก่ประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศ และและจะทำให้พี่น้องประชาชน เด็ก เยาวชน ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์กิจการไฟฟ้าไทยรูปแบบใหม่ที่มีการผสมผสานเทคนิคแสง สี เสียง ยิ่งใหญ่ ตระการตา พร้อมทั้งดื่มด่ำกับบรรยากาศ ซุ้มไฟประดับที่งดงามยามค่ำคืน และขอเปิดงานเทศกาล แสง สี เสียง “จากแสงแรกแห่งสยาม…สู่พิพิธภัณฑ์การไฟฟ้าไทย” พลเอก อนุพงษ์ฯ กล่าว

นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่าว่า 130 ปีที่ประเทศของเรามีไฟฟ้าใช้จากความคิดริเริ่มของจอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) เมื่อ พ.ศ. 2427 ประเทศไทยจึงเริ่มมีไฟฟ้าใช้พร้อม ๆ กับประเทศที่เจริญแล้วในยุโรปบางประเทศ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมไฟฟ้าหลวงขึ้นสังกัดกระทรวงโยธาธิการ (ปัจจุบันคือกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย) เพื่อสนับสนุนกิจการไฟฟ้าให้มั่นคง ต่อมาได้ให้สัมปทานเอกชนดำเนินการผลิตไฟฟ้าในนามบริษัท ไฟฟ้ากรุงเทพ โดยมีโรงไฟฟ้า และอาคารสำนักงานตั้งอยู่ที่เขตวัดเลียบในปัจจุบัน หลังจากนั้น ได้ขายสัมปทานให้แก่นักธุรกิจชาวเดนมาร์ก และเปลี่ยนเป็นบริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด โดยกิจการไฟฟ้าในยุคนี้เจริญรุดหน้าเป็นอย่างมาก ควบคุมทั้งการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า ตลอดจนการเดินรถราง และการระงับอัคคีภัยในพระนคร จากนั้น ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทไฟฟ้าไทยคอร์ปอเรชั่น เมื่อหมดสัมปทาน รัฐบาลจึงเข้าดำเนินการและเปลี่ยนชื่อเป็น “การไฟฟ้ากรุงเทพ” และต่อมาในปี พ.ศ. 2455 รัฐบาลได้ตั้งกองไฟฟ้าหลวงสามเสนขึ้นอีกแห่งหนึ่ง เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตของเมือง จวบจนเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2501 ได้มีการรวมกันระหว่างการไฟฟ้ากรุงเทพ กับกองไฟฟ้าหลวงสามเสน เป็น “การไฟฟ้านครหลวง”

จากการที่กิจการไฟฟ้าของประเทศไทยได้มีการดำเนินงานมาอย่างยาวนาน และด้วยความตระหนักถึงคุณค่าของอาคารซึ่งเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เป็นจุดกำเนิดของกิจการไฟฟ้าไทย การไฟฟ้านครหลวงจึงมีนโยบายในการอนุรักษ์อาคารเพื่อให้เป็นพิพิธภัณฑ์การไฟฟ้าไทยหรือ MEA SPARK สถานที่ที่จะจุดประกายจินตนาการการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุดในเรื่องของการไฟฟ้าไทยและเป็นการส่งมอบความภาคภูมิใจของการไฟฟ้านครหลวง กระทรวงมหาดไทยไปสู่ความภาคภูมิใจของคนไทยทุกคน” ผู้ว่าการ กฟน. กล่าว

โอกาสนี้ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และคณะ ร่วมรับชมการแสดง แสง สี เสียง “จุดประกายพิพิธภัณฑ์การไฟฟ้าไทย” และเยี่ยมชมนิทรรศการพิพิธภัณฑ์การไฟฟ้าไทย MEA Electricity Museum หรือ MEA SPARK แหล่งเรียนรู้ด้านไฟฟ้า เพื่อชีวิตมหานคร สะท้อนผ่านการออกแบบภายใต้แนวคิด จากแสงแรก…สู่แสงแห่งความยั่งยืน ด้วยการบูรณาการงานออกแบบเพื่อส่งต่อคุณค่าทางประวัติศาสตร์การไฟฟ้าไทย จากอดีต สู่วิถีชีวิตเมืองมหานครปัจจุบัน ขับเคลื่อนสู่อนาคตแห่งมหานครอัจฉริยะ (Smart Metro) ที่ยั่งยืน สถาปัตยกรรมออกแบบผสมผสานระหว่างการอนุรักษ์พัฒนาอาคารเก่าและอาคารสร้างขึ้นใหม่ โดยเคารพอาคารโบราณสถานที่อยู่ใกล้เคียง กำหนดขนาดและความสูงของอาคารให้เปิดมุมมอง ความงดงามทางสถาปัตยกรรมของอาคารโบราณสถาน แบ่งเป็น 3 ชั้น ได้แก่ ชั้นที่ 1 แสงแห่งอนาคต Symphony of Light นำเสนอนวัตกรรมโครงข่ายไฟฟ้าอันชาญฉลาดที่หลอมรวมพลังของแต่ละคนให้เป็นบทเพลงแห่งแสงที่เปี่ยมพลัง สร้างปรากฏการณ์ “Symphony of Light” ที่เกิดจากแสงไฟดวงเล็ก ๆ ก่อเป็นภาพใหญ่ของอนาคตการไฟฟ้าไทย ภายในบริเวณ ประกอบด้วย โถงต้อนรับ และจุดลงทะเบียน นิทรรศการฟื้นชีวิตรถรางไฟฟ้า นิทรรศการห้องอนุรักษ์อาคาร เรียนรู้เบื้องหลังการบูรณะอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กในยุคแรกของไทย ชั้นที่ 2 แสงแห่งชีวิต กำเนิดการไฟฟ้านครหลวง ผู้ชมจะได้สนุกจากการค้นหาเรื่องไฟฟ้าที่ไม่ใช่แค่แสงสว่าง แต่เป็นพลังงานสำคัญที่มีบทบาทต่อทุกชีวิต โดยเฉพาะเมื่อการไฟฟ้านครหลวง “กฟน.” หรือ “MEA” ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2501 เป็นต้นมา รวมถึงเหตุการณ์สงครามโลก ครั้งที่ 2 (พระนครใต้เงามืดแห่งสงคราม) และห้องผู้ว่าการ กฟน. ในอดีต และชั้นที่ 3 แสงแรกแห่งสยาม ชมพระปรางค์วัดราชบุรณ ราชวรวิหาร ย้อนเวลาไปในยุคที่สยามยังไม่มีไฟฟ้าใช้ พบกับวันแห่งประวัติศาสตร์ของการผลิตไฟฟ้าใช้เป็นครั้งแรกที่สว่างไสวเจิดจ้า และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในบรรยากาศถนนแรก ๆ ของบางกอกที่ส่องสว่างภายใต้แสงจากดวงโคม กรุงเทพเมืองศิวิไลซ์ ไฟฟ้าเพื่อการพัฒนาสยามประเทศ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อาณาจักรโรงไฟฟ้าวัดเลียบ และจุดชมพระปรางค์วัดราชบุรณ ราชวรวิหาร โดยภายนอกอาคารยังมี “ร้านคาเฟ่รถราง” ที่สามารถจิบกาแฟ ในบรรยากาศย้อนยุคไปเมื่อครั้งยุคความเจริญแรกเริ่มของกรุงเทพมหานครอีกด้วย

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถร่วมรับชมการแสดง แสง สี เสียง “จุดประกายพิพิธภัณฑ์การไฟฟ้าไทย” ได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวัน 8 มกราคม 2566 วันละ 2 รอบ คือ เวลา 18.30 และ 19.30 น. และสามารถเยี่ยมชมนิทรรศการเรียนรู้ประวัติศาสตร์การไฟฟ้าไทย จากแสงแรกแห่งสยาม…สู่พิพิธภัณฑ์ไฟฟ้าไทย ตั้งแต่เวลา 17.00 – 22.00 น. ณ อาคารพิพิธภัณฑ์การไฟฟ้าไทย (อาคาร 1) การไฟฟ้านครหลวง เขตวัดเลียบ และพิเศษ! ในวันคริสต์มาส และวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ขยายเวลาถึง 24.00 น.