ข่าวประชาสัมพันธ์

จากสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย

ข่าวเช้าวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตอบกระทู้ถามสด กรณีการแก้ไขปัญหาสถานการณ์น้ำท่วม ย้ำเร่งเยียวยาทั้งตามระเบียบและเพิ่มเติม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 เวลา 11.00 น. พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตอบกระทู้ถามสดของนางสาวพัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคพลังประชารัฐ เกี่ยวกับภาพรวมสถานการณ์อุทกภัยของประเทศไทย มาตรการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม มาตรการให้ความเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบของรัฐบาล และ ผลการดำเนินการช่วยเหลือทั้งในพื้นที่ต่างจังหวัด และกรุงเทพมหานคร รวมถึงมาตรการป้องกันอุทกภัยในอนาคต รัฐบาลจะมีมาตรการป้องกันปัญหาในระยะยาวอย่างไร โดยมี นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการตอบกระทู้ถามสด ณ อาคารรัฐสภา กรุงเทพมหานคร

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในเรื่องแรก คือ ภาพรวมสถานการณ์อุทกภัยของประเทศไทย มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 59 จังหวัด ในปีนี้ทุกท่านคงทราบกันดีแล้วว่ามีสถานการณ์ลานีญาที่ทำให้พื้นที่ประเทศไทยมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติ จากสถิติตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2565 มีปริมาณน้ำเก็บสะสมก่อนช่วงฤดูฝนจำนวนมาก ประกอบกับสถานการณ์ร่องมรสุมพาผ่านประมาณ 6 ครั้งต่อเนื่องกัน ตลอดช่วงเดือน สิงหาคม – กันยายน 2565 และพายุดีเปรสชั่น ทั้ง พายุมู่หลาน พายุหมาอ๊อน และพายุโนรู ทำให้ปริมาณฝนในประเทศไทยมีปริมาณที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ซึ่งขอจะกล่าวถึงบริเวณลุ่มน้ำที่ส่งผลต่อสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยภาพรวม 2 ลุ่มน้ำหลัก คือ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำชี-มูล รัฐบาลคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ที่มีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการ ได้ร่วมกันบริหารสถานการณ์น้ำโดยเตรียมการรองรับสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2565 ในด้านการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ ซึ่งมีอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเกิน 80% น้อยมาก 3 อ่าง จาก 35 อ่าง ในเดือน มิถุนายน 2565 เนื่องจากได้สั่งการให้ทำการพร่องน้ำ ต่อมาเมื่อสิ้นสุดสถานการณ์ในช่วงเดือน ตุลาคม 2565 มีอ่างเก็บน้ำ จำนวน 23 อ่าง ที่มีปริมาณน้ำเกิน 80% กล่าวคือ มีปริมาณน้ำฝนที่กักเก็บได้มาก การระบายน้ำจึงไม่ใช่ปัญหา

พลเอก อนุพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาที่แท้จริงของสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้ คือ ปัญหาน้ำท่า หรือ ปริมาณน้ำฝนที่ตกท้ายเขื่อน ในทางภูมิศาสตร์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทางตอนเหนือของประเทศไทย มีแม่น้ำ ปิง วัง และน่าน ที่มีเขื่อนขนาดใหญ่คอยหน่วงน้ำและชะลอน้ำ แต่แม่น้ำยมมีพื้นที่เก็บขนาดเล็กกว่าแม่น้ำสามสายที่กล่าวไป ต่ำลงมา คือ มีเพียงแหล่งเก็บน้ำธรรมชาติ อาทิ กว๊านพะเยา บึงบระเพ็ด ทำให้ไม่มีพื้นที่หน่วงน้ำ เมื่อน้ำมาถึงบริเวณเขื่อนเจ้าพระยา จึงต้องผันน้ำออกไปทางทิศตะวันตก คือ แม่น้ำท่าจีน และ แม่น้ำน้อย และทิศตะวันออก คือ แม่น้ำป่าสัก เพื่อป้องกันไม่ให้ตามหลักเกณฑ์ที่ได้ทำการประเมินสถานการณ์ไว้ ซึ่งจะปล่อยน้ำไม่เกินกว่า 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ไม่เช่นนั้นจะทำให้กรุงเทพมหานครเกิดสถานการณ์น้ำท่วม เพื่อรักษาสมดุลการผันน้ำไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยคำนึงถึงมูลค่าความเสียหายเป็นสำคัญทั้งที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำการเกษตร และพื้นที่อุตสาหกรรม ภายใต้ข้อจำกัดในด้านทรัพยากรเครื่องจักร กำลังพล และความสามารถในการระบายน้ำของแต่ละร่องในแต่ละพื้นที่ ประกอบกับปัญหาต่อมาที่เกิดขึ้น คือ บริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลพบุรี และจังหวัดอ่างทองมีสถานการณ์ฝนตกหนักเช่นกัน ทำให้ต้องรักษาระดับน้ำไว้ที่ 17.7 เมตร (สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง) โดยได้สั่งการให้ปล่อยน้ำลงสู่ทางข้าง ซึ่งมีมาตรการผันน้ำเข้าทุ่ง โดยแจ้งให้เกษตรกรเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนจะผันน้ำเข้าไปในพื้นที่ ดังนั้น ประชาชนที่ได้รับผลกระทบในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ กลุ่มเกษตรกร และพี่น้องประชาชนที่มีบ้านเรือนที่อยู่ริมตลิ่ง อย่างไรก็ตามรัฐบาลสามารถบริหารสถานการณ์ไม่ให้กระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของประเทศได้ตามเป้าหมาย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า บริเวณลุ่มน้ำชี-มูล ได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมและพายุดีเปรสชั่น ทำให้ปริมาณน้ำฝนสะสมมีปริมาณมากเกินความสามารถในการระบายน้ำของลำน้ำและลุ่มน้ำสาขา ทำให้เกิดสถานการร์น้ำล้นตลิ่ง ประกอบกับบริเวณลุ่มน้ำชี-มูล ไม่มีพื้นที่อ่างเก็บน้ำ พื้นที่หน่วงน้ำ หรือพื้นที่รองรับน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ จึงเกิดสถานการณ์น้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ตามที่ปรากฎในข่าว ซึ่งบริเวณที่ได้รับผลกระทบสูงสุด คือ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ซึ่งขณะนี้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้เร่งสำรวจพื้นที่ทั้ง 76 จังหวัด และ กรุงเทพมหานคร ที่ได้รับความเสียหายและส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนทั้งหมดแล้ว

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับมาตรการให้ความช่วยเหลือ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเร่งสำรวจความเสียหายทั้งหมด ซึ่งจะดำเนินการเบิกจ่ายตามระเบียบกระทรวงการคลัง และข้อสั่งการที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี โดยพลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้สำรวจผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ โดยให้พิจารณาตามข้อเท็จจริงและความเสียหายที่แต่ละพื้นที่ได้รับผลกระทบเป็นรายกรณีไป นอกจากนี้ รัฐบาลได้มีการวางแผนเพื่อป้องกันและแก้ไขสถานการณ์ในอนาคต โดยจะดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ จำนวน 9 โครงการ เพื่อพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการพื้นที่ระบายน้ำ ตั้งแต่บริเวณแม่น้ำป่าสัก จังหวัดชัยนาท ไปจนถึงแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมกับการสร้างวงแหวนพัฒนาลุ่มน้ำท่าจีน เพื่อจะแก้ไขปัญหาในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครอีกด้วย พร้อมนี้ รัฐบาลจะขอนำข้อเสนอแนะในวันนี้ ทั้งเรื่องการสื่อสารสังคมที่อาจเข้าไม่ถึงบางกลุ่มเป้าหมายไปพิจารณาปรับปรุงให้สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึงมากขึ้น และจะดำเนินการประสานกรุงเทพมหานครให้เร่งประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เพื่อให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้อย่างครบถ้วนทุกพื้นที่ต่อไป