ข่าวประชาสัมพันธ์

จากสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย

ข่าวเช้าวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565

มท.1 ประชุมติดตามขับเคลื่อนงานมหาดไทยส่วนกลาง 76 จังหวัด และ กทม. พร้อมขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาการผู้ว่าฯ ข้าราชการ และทุกภาคส่วนที่ช่วยกันดูแลบำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชน พร้อมเน้นย้ำใช้ทุกกลไกการสื่อสารเสริมสร้างการรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง กระชับ เข้าใจง่าย ให้กับพี่น้องประชาชนทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 65 เวลา 15.00 น. ที่ห้องประชุมราชสีห์ ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนและติดตามนโยบายรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย โดยมี นายอนุชา โมกขะเวส ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย แพทย์หญิงวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายพรพจน์ เพ็ญพาส นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นางสาวปาณี นาคะนาท รกน.หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย นางนิศากร วิศิษฏ์สรอรรถ ที่ปรึกษาด้านการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ นายบรรจบ จันทรัตน์ นางสาวปาณิสรา กาญจนะจิตรา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทย นายทรงกลด สว่างวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ช่วยราชการ สป.มท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม โดยเป็นการประชุมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกลร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการสังกัด มท. ประจำจังหวัด และส่วนกลางประจำภูมิภาค และนายอำเภอ ร่วมประชุม

พลเอก อนุพงษ์ฯ กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมเพื่อติดตามขับเคลื่อนงานของกรม รัฐวิสาหกิจ และท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในการขับเคลื่อนงานตามนโยบายของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทยระดับพื้นที่ โดยกลไกมหาดไทยทุกระดับได้ขับเคลื่อนการทำงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง บางพื้นที่สามารถขับเคลื่อนเป็นตัวอย่าง และบางพื้นที่พบอุปสรรคการทำงาน โดยเน้นย้ำแนวทางการทำงานที่สำคัญ ได้แก่ 1) การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเป็นแม่ทัพในการแก้อย่างจริงจัง ทั้งด้านอุปทาน (Supply Side) ของยาเสพติด พบว่าผู้กระทำความผิดมีรูปแบบช่องทางการจำหน่ายและขนส่งที่ซับซ้อน เพื่อให้การค้นหามีความสลับซับซ้อนขึ้น ทั้งการจำหน่ายผ่านโซเชียลมีเดีย และการลักลอบขนส่งผ่านผู้ให้บริการทั้งของรัฐและเอกชน จึงต้องบูรณาการทั้งเรื่องการข่าวและการปราบปราม Supply Side ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ทุกกลไกตามโครงสร้างการบังคับบัญชาตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด ด้วยการเอาใจใส่ ไม่ปล่อยปะละเลย ทำให้ชัด เพราะเรามีอำนาจหน้าที่ มีหน่วยงานรับผิดชอบ และในด้านอุปสงค์ (Demand Side) ของยาเสพติด ต้องบูรณาการกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ทั้งโรงเรียนสังกัด อปท. โรงเรียนสังกัด สพฐ. และสังกัดอื่น ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้มีคนเสพหน้าใหม่ และป้องกันอันตรายในสังคมจากผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (Serious Mental Illness with High Risk to Violence: SMI-V)” เพราะคนกลุ่มนี้เป็นอันตรายอย่างร้ายแรงกับคนในครอบครัวและสังคม 2) การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน ให้กรมการปกครองใช้กลไกควบคุมการพิจารณาออกใบอนุญาตทุกประเภทให้เป็นไปตามกฎหมาย และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกวดขันนายอำเภอให้เข้มงวดการพิจารณาออกใบอนุญาต โดยดูทั้งคุณสมบัติบุคคลและเรื่องอื่น ๆ ให้ถี่ถ้วน รัดกุม 3) งานทะเบียนและบัตร เป็นงานบริการพี่น้องประชาชนที่มักจะได้รับรายงานพบปัญหาการทุจริต จึงให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอกำชับให้ปลัดอำเภอผู้รับผิดชอบได้ทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถด้วยความซื่อสัตย์สุจริต “ต้องไม่ให้เกิดการทุจริต” และต้อง “ไม่กระทบกับการอำนวยความสะดวกบริการประชาชน” แต่หากพบการทุจริตต้องรับผิดชอบตามกฎหมายไม่มีละเว้น 4) การขับเคลื่อนกลไกแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามกลไก ศจพ. ซึ่งเราได้เข้าถึงทุกปัญหาของพี่น้องประชาชนกลุ่มเป้าหมายใน TPMAP และได้เริ่มแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนครบทุกครัวเรือนแล้ว โดยสิ่งที่ต้องทำต่อจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอต้องกำชับให้เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลการดำเนินการแก้ไขปัญหาในระบบ LOG Book เพื่อให้คณะอนุกรรมการประเมินผลของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีข้อมูลในการกำหนดแนวทางการดำเนินงานต่อไป พร้อมทั้งให้ ศจพ.ทุกระดับ ทีมปฏิบัติการตำบล และทีมพี่เลี้ยง ลงพื้นที่ไปติดตามคุณภาพชีวิตของครัวเรือนเป้าหมาย เพื่อไม่ให้ประสบปัญหาซ้ำอีก และทำให้เกิดความยั่งยืน

พลเอก อนุพงษ์ฯ ได้กล่าวถึง การเตรียมความพร้อมดูแลประชาชนในเทศกาลลอยกระทง ปี 2565 ด้านความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนที่ไปลอยกระทง ทั้งการสัญจรทางน้ำ ท่าเรือ เรือโดยสาร โป๊ะ รวมทั้งการจราจรทางบก และความปลอดภัยจากดอกไม้เพลิง พลุ ตะไล การควบคุมดูแลการจำหน่ายสุรา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสถานบริการ สถานบันเทิงต่าง ๆ ต้องกำชับ กำกับดูแล “เข้มงวด” ไม่ให้เกิดเหตุร้ายในเทศกาลแห่งความสุขของประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งเน้นย้ำมาตรการความปลอดภัยในสถานศึกษา ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยและเพิ่มความเข้มงวดเพื่อไม่ให้เกิดเหตุร้ายในสถานศึกษาต่าง ๆ ในสังกัด อปท. และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการในการดูแลสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดด้วย และได้กล่าวถึงการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา ที่ได้รับผลกระทบในทุกจังหวัด ต้องขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัด เจ้าหน้าที่ และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน มูลนิธิ สมาคม เหล่ากาชาด องค์กรต่าง ๆ ที่ได้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ซึ่งตอนนี้พี่น้องประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ลุ่มน้ำชี มูล และเจ้าพระยา ยังประสบสถานการณ์น้ำท่วมขัง จึงให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำชับเจ้าหน้าที่ส่วนเกี่ยวข้อง เร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่ที่ยังได้รับความเดือดร้อน เพราะบางพื้นที่เริ่มเกิน 60 วัน และพิจารณาว่าหากน้ำที่ท่วมขังยังมีคุณภาพปกติ ไม่เน่าเสีย ให้ขอรับการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำจาก ปภ. สูบไปกักเก็บในพื้นที่ที่คาดว่าจะขาดน้ำ เพื่อป้องกันสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในเบื้องต้น และสำหรับด้านการฟื้นฟูเยียวยา ให้ดำเนินการประกาศพื้นที่ประสบอุทกภัย และพื้นที่เขตให้ความช่วยเหลือประชาชน เพื่อให้คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยภิบัติอำเภอ/จังหวัด พิจารณาการให้ความช่วยเหลือให้เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึง ครบถ้วน และใช้ศักยภาพของจังหวัดบูรณาการร่วมกับหน่วยงานช่างในพื้นที่ เช่น ทหาร ตำรวจ อาชีวะ และ อปท. ดูแลพี่น้องประชาชนนอกเหนือจากการดูแลตามระเบียบของทางราชการ เพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุขได้โดยเร็วตามพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ 14 จังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดเพชรบุรี เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ และสำหรับผู้ว่าราชการจังหวัดพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดทำแผนและขับเคลื่อนมาตรการลดต้นทางแหล่งกำเนิด PM 2.5 ได้ เช่น การชิงเก็บก่อนเผา ด้วยการนำเศษวัชพืชไปทำเชื้อเพลิง การขอความร่วมมือประชาชนไม่เผาในที่โล่ง เป็นต้น และขอให้ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ทั่วประเทศ ได้ติดตามการขับเคลื่อนนโยบายการจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยของสายไฟฟ้า ป้องกันอัคคีภัย และบ้านเมืองมีความสวยงาม” พลเอก อนุพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

พลเอก อนุพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้เกิดการเสริมสร้างความเข้าใจในการขับเคลื่อนงานของภาครัฐเพื่อพี่น้องประชาชนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน กระชับ เข้าใจง่าย จึงขอเน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้กำชับทุกหน่วยงาน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้นำข้อมูล “บูรณาการสร้างการรับรู้สู่ชุมชน” ที่กระทรวงมหาดไทยได้บูรณาการข้อมูลข่าวสารจากทุกกระทรวง และใช้กลไกการสื่อสารทุกช่องทางในการดำเนินการให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน เพราะการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้อง ด้วยการพูดซ้ำ ๆ ย้ำ ๆ จะทำให้พี่น้องประชาชนสามารถนำข่าวสารภาครัฐไปปฏิบัติตน และบอกกล่าวไปยังเพื่อนบ้าน สมาชิกในชุมชน/หมู่บ้านได้ โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดจะทำเอง หรือจะให้ท่านนายอำเภอไปพูด หรือปราชญ์ท้องถิ่น บุคคลในชุมชน ช่วยกันพูด ช่วยกันบอก ช่วยกันสื่อสารผ่านหอกระจายข่าวหมู่บ้าน/เสียงตามสายท้องถิ่น อย่างครอบคลุมทุกพื้นที่ พร้อมทั้งได้กล่าวขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ และข้าราชการทุกคนที่ช่วยดูแลพี่น้องประชาชนแทนรัฐบาลโดยเฉพาะในช่วงยามคับขันที่ผ่านมา และขอเป็นกำลังใจในการทำงานดูแล “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” พี่น้องประชาชนให้เกิดมรรคผลมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน