ข่าวประชาสัมพันธ์

จากสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย

ข่าวเช้าวันที่ 20 ตุลาคม 2565

มท.1 เป็นประธานเปิดงานวันจัดการภัยพิบัติของอาเซียนและวันลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติสากล และการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ ครั้งที่ 10 (THE 10TH AMMDM)

วันนี้ (20 ต.ค. 65) เวลา 08.00 น. ณ ห้องบอลรูม โรงแรม รอยัล ออร์คิด เชอราตัน ถ.เจริญกรุง กรุงเทพฯ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดงานวันจัดการภัยพิบัติของอาเซียน (Commemoration of ASEAN Day for Disaster Management) และวันลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติสากล (International Day for Disaster Risk Reduction) ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด “อาเซียนผนึกกำลังเร่งปรับตัว เสริมพลังท้องถิ่นสู่การจัดการภัยพิบัติอย่างเข้มแข็ง” และการประชุมผู้นำภาคีเพื่อการดำเนินตามความตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ครั้งที่ 11 (The Meeting of the Conference of the Parties (COP to AADMER) and Related Meetings) โดยมี พลตำรวจโท ณัฐพิชย์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนระดับรัฐมนตรีด้านการจัดการภัยพิบัติจากประเทศสมาชิกอาเซียน ผู้แทนเลขาธิการอาเซียน นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ และประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อการให้ความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรม (AHA Centre) กล่าวรายงานการจัดการงานฯ เจ้าหน้าที่อาวุโสของหน่วยงานด้านการจัดการภัยพิบัติของประเทศคู่เจรจา (สาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศญี่ปุ่น) ผู้บริหารระดับสูงจากองค์การสหประชาชาติ และองค์การระหว่างประเทศ รวมทั้งสิ้นกว่า 80 คน ร่วมในพิธีและร่วมประชุม

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ภูมิภาคอาเซียนมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยในปีที่แล้วร้อยละ 16 ของภัยธรรมชาติทั่วโลกเกิดขึ้นในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทุกประเทศสมาชิกอาเซียนต่างต้องรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มีความท้าทาย และมีดัชนีความเปราะบางต่อความเสี่ยงจากภัยพิบัติเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 33 งานในวันนี้จึงเป็นเวทีสำคัญที่แสดงถึงความมุ่งมั่นในการร่วมสร้างภูมิภาคอาเซียนให้เข้มแข็ง สามารถรับมือกับภัยพิบัติ และปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยในปี 2565 ประเทศไทยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ ซึ่งได้กำหนดประเด็นสำคัญทีจะขับเคลื่อนการณรงค์ในห้วงวันการจัดการภัยพิบัติของอาเซียน ได้แก่ “รวมพลัง รวมใจ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพท้องถิ่นให้มีภูมิคุ้มกันจากภัยพิบัติอย่างสมดุล” ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นรณรงค์ขององค์การสหประชาชาติเนื่องในวันลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติสากล ประจำปี 2565 ได้แก่ “เตือนภัยล่วงหน้าได้เร็วทุกคนจะเตรียมตัวรับมือภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็ว” (Early Warning, Early Action for All) โดยเน้นถึงการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย G ตามกรอบการดำเนินงานเซนไดเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ที่มีเป้าหมายในการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลความเสี่ยงและระบบการเตือนภัยได้อย่างทั่วถึงภายในปี 2573

พลเอก อนุพงษ์ฯ ได้กล่าวต่ออีกว่า การดำเนินงานของอาเซียนในปีนี้ได้ขับเคลื่อนวิสัยทัศน์อาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ โดยนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการจัดการภัยพิบัติและแจ้งเตือนภัยผ่านระบบเฝ้าระวังและตอบโต้ภัยพิบัติของอาเซียน หรือ Disaster Monitoring and Response System ที่ประสานงานโดย AHA Centre และได้มีการเปิดตัวคู่มือกรอบการเตรียมความพร้อมและแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าของอาเซียน เพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนของเราทุกคนจะได้รับข้อมูลการแจ้งเตือนภัยโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

จากนั้น พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเปิดการประชุมผู้นำภาคีเพื่อการดำเนินตามความตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ครั้งที่ 11 (The Meeting of the Conference of the Parties (COP to AADMER) and Related Meetings) โดยกล่าวว่า ขอใช้โอกาสนี้ แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนที่ได้รับผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นโนรูและภัยธรรมชาติอื่น ๆ ตลอดทั้งปี โดยในส่วนของประเทศประเทศไทยได้ประสบสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่จนถึงปัจจุบัน ซึ่งต้องขอบคุณประเทศสมาชิกอาเซียนที่ให้การสนับสนุนการทำงานของศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อการให้ความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรม (AHA Centre) ในการปรับใช้คลังสินค้าของอาเซียนจากคลังสินค้า DELSA ในจังหวัดชัยนาท เพื่อช่วยเหลือการรับมืออุทกภัยของประเทศไทย อันเป็นข้อพิสูจน์ว่าอาเซียนมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในช่วงวิกฤตตามที่ระบุไว้ในปฏิญญาอาเซียนว่า “หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งอัตลักษณ์ หนึ่งประชาคม” ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2565 เราได้บรรลุเป้าหมายในหลายประการ ในการเพิ่มขีดความสามารถด้านการจัดการภัยพิบัติ รวมทั้งกระชับความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจาในด้านการจัดการภัยพิบัติ ตามแผน AADMER Work Program 2021 – 2025 ที่ได้กำหนดไว้ โดยมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มขีดความสามารถในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติของอาเซียนไปสู่การพัฒนาที่สมดุลและการฟื้นคืนหลังการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และขอขอบคุณการสนับสนุนจากสำนักเลขาธิการอาเซียน ศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อการให้ความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรม (AHA Centre) ประเทศคู่เจรจาอาเซียน และเครือข่ายภาคประชาสังคมอาเซียน สำหรับความช่วยเหลือและความร่วมมือ โดยมั่นใจว่าเป้าหมายของเราในปีนี้จะประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมในวันนี้ เป็นการประชุมวาระเต็มรูปแบบ โดยในช่วงเช้าจะได้รับฟังการบรรยายสรุปจาก ACDM, AHA Centre และสำนักเลขาธิการอาเซียน เกี่ยวกับความคืบหน้าและปรับปรุงกิจกรรมของอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ หลังจากนั้น จะเป็นการประชุมกับประเทศคู่เจรจา (+3) คือ สาธารณรัฐเกาหลี จีน และญี่ปุ่น เพื่อหารือถึงโอกาสและความร่วมมือในการมุ่งสู่ความสัมพันธ์และการสนับสนุนอาเซียนในด้านการจัดการภัยพิบัติต่อไป