ข่าวประชาสัมพันธ์

จากสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย

ข่าวเช้าวันที่ 27 กันยายน 2565

มท.1 ปาฐกถาการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและเครือข่ายประชารัฐระดับประเทศ ย้ำ ในอนาคต ผวจ. ต้องทำงานร่วมกับเครือข่ายประชารัฐรักสามัคคี ร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 เวลา 15.45 น. พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ร่วมงานประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและเครือข่ายประชารัฐรักสามัคคีระดับประเทศ โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายประยูร รัตนเสนี อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายฐาปน สิริวัฒนภักดี หัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ นายมีชัย วีระไวทยะ ประธานกรรมการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ สมาชิกวุฒิสภา พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารจากบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด เครือข่ายประชารัฐรักสามัคคี ภาคีเครือข่ายภาคเอกชน และประชาชน นักเรียน นักศึกษาที่สนใจ เข้าร่วมรับฟัง ณ ห้อง SX Grand Plenary Hall ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ภาครัฐและภาคเอกชนได้มีแนวทางร่วมกัน ที่จะช่วยกันดูแลพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่เปราะบางและกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชนที่มีความเต็มใจที่จะเข้ามาร่วมมือกัน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพคน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการหารือกับภาคเอกชนและก่อให้เกิดการสานพลังประชารัฐ ด้วยโมเดล 6 Driver 6 Enable โดยกระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบใน Enable ที่ 3 ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ โดยได้มีการจัดตั้งคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐขึ้น แบ่งเป็นภาครัฐ และภาคเอกชน โดย คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน รวมถึงภาคีเครือข่ายภาคเอกชนต่างๆ ซึ่งเต็มไปด้วยความมุ่งมั่นและพลัง รวมถึงประสบการณ์ที่จะมาช่วยกันแก้ไขปัญหา และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนให้ดียิ่งขึ้น

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อไปว่า กลไกการทำงานในส่วนของภาครัฐนั้น มีคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและพลังประชารัฐส่วนกลาง และคณะกรรมการประสานและขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐประจำจังหวัด (คสป.) ในส่วนของภาคเอกชน มีกลไกการทำงาน โดย บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีวิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ใน 76 จังหวัด ทำงานร่วมกัน เพื่อเติมเต็มจุดอ่อนที่ภาครัฐไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งนอกจากเครือข่ายภาครัฐและภาคเอกชนแล้ว ยังมีการทำงานร่วมกันของภาคส่วนอื่น ทางภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน หรือที่เรียกว่ากลไก 5 ภาคส่วน อีกด้วย

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ประกอบกิจการที่หวังกำไรเพียงเล็กน้อย และนำกำไรนั้นกลับคืนสู่สังคม มีเป้าหมายการดำเนินงาน คือ “สร้างรายได้ให้ชุมชน ประชาชนมีความสุข” มีการกำหนดกลุ่มการดำเนินงาน 3 กลุ่มงาน ได้แก่ 1) กลุ่มงานเกษตร 2) กลุ่มงานแปรรูป และ 3) กลุ่มงานการท่องเที่ยวโดยชุมชน มีกระบวนการการทำงาน ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง มีกระบวนการที่สำคัญ คือ 1) ปัจจัยการผลิต 2) การสร้างองค์ความรู้ 3) การตลาด 4) การสื่อสารสร้างการรับรู้ และ 5) การบริหารจัดการ ซึ่งเปรียบเสมือนฟันเฟืองของกลไกการทำงานของเครื่องจักรที่จะต้องสอดประสานเกื้อหนุนกัน โดยทั้ง 5 ฟันเฟืองจะขับเคลื่อนไปด้วยกันในรูปแบบของวิสาหกิจเพื่อสังคม Social Enterprise : SE

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันองค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดเป้าหมายความยั่งยืนของโลก (Sustainable Development Goals: SDGs) ไว้ 17 ข้อ การตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก ได้นำเอาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้ โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกากิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ให้แนวทางให้มีความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่ดี ควบคู่ไปกับการมีความรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง มีคุณธรรม ซื่อสัตย์ สุจริต รู้จักการแบ่งปัน หรือที่เรียกว่า 3 ห่วง 2 เงื่อนไข เพื่อให้สามารถอยู่รอดในสังคมได้อย่างยั่งยืน

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับแนวทางการดำเนินงานในอนาคต ทุกจังหวัดมีกลไกคณะกรรมการประสานและขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐประจำจังหวัด (คสป.) จึงอยากให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ร่วมสานพลังประชารัฐ โดยร่วมกับภาคเอกชนในพื้นที่ วางแผนและติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และมีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ทั้งนี้ กลไกคณะกรรมการประสานและขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐประจำจังหวัด (คสป.) นั้น จะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง ภาครัฐ และภาคเอกชน รวมถึง ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาคประชาชน ซึ่งจะเติมเต็มซึ่งกันและกันในการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน

ด้าน นายฐาปน สิริวัฒนภักดี หัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ กล่าวว่า กว่า 7 ปี ในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ มีวัตถุประสงค์ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สร้างรายได้และเพิ่มความสุขให้กับ คนในชุมชน ผ่านความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน ในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก การดำเนินงานได้มีความก้าวหน้าและประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ปัจจุบันเครือข่ายประชารัฐรักสามัคคีทั่วประเทศ สามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานไปแล้ว กว่า 1,425 โครงการ ครอบคลุม 106,091 ครัวเรือน สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนกว่า 1,791 ล้านบาท