ข่าวประชาสัมพันธ์

จากสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย

ข่าวเช้าวันที่ 14 กันยายน 2565

มท.1 เป็นประธาน ประชุมขับเคลื่อนติดตามนโยบายรัฐบาลและภารกิจสำคัญ ร่วมกับผู้ว่าฯ 76 จังหวัด ผ่าน VCS เชื่อมั่นกลไกในระดับพื้นที่ สามารถแก้ไขทุกปัญหา นำไปสู่การ CHANGE FOR GOOD ที่เป็นรูปธรรม

เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 65 เวลา 15.00 น. ณ ห้องประชุมราชสีห์ อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในการประชุมขับเคลื่อนและติดตามนโยบายของรัฐบาล และภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (เดือนกันยายน 2565) โดยมี นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ด้านบริหาร นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย รองอธิบดี และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมการประชุม โดยผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เข้าร่วมประชุมผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกล (VCS)

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เรื่องสถานการณ์โควิด-19 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด หารือร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด จัดทำแผนเตรียมความพร้อมใน 3 ด้าน คือ จำนวนเตียง จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ และจำนวนเวชภัณฑ์ เนื่องจากคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขปรับโรคโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตรายให้เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 นี้ และขอให้มีแผนเตรียมรองรับ หากเกิดการระบาดอีกครั้ง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า ขอขอบคุณกรมที่ดินที่ได้พัฒนามุ่งขับเคลื่อนสู่องค์กรดิจิทัล โดยการนำเทคโนโลยีและระบบสารสนเทศมาใช้ บนพื้นฐานแนวคิดการยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เช่น แอปพลิเคชั่น Landmaps แอปเดียวจบ ครบทุกเรื่องที่ดิน พร้อมระบบจองคิวรังวัดออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว ในการรับบริการ หรือแอปพลิเคชั่น D.DOPA ให้บริการงานทะเบียนราษฎร์ ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งขณะนี้ได้สั่งการให้กรมการปกครองเร่งพัฒนาระบบการยืนยันตัวตนแบบดิจิทัล (Digital ID) เพื่อสนับสนุนการให้บริการอื่น ๆ ของภาครัฐ

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในเรื่องอุทกภัยได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เร่งดำเนินการสำรวจและให้ความช่วยเหลือ พร้อมทั้งระดมสรรพกำลัง ทั้งกำลังคนและเครื่องมือ ให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ในทุกด้าน ทั้งด้านการดำรงชีวิต อาหาร น้ำดื่ม บริการสาธารณูปโภค การเดินทางสัญจรและให้ใช้กลไกการทำงานในระดับพื้นที่ ทั้งโครงการชลประทาน สำนักงานเกษตรจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครกู้ภัย ประชาชนจิตอาสา รวมถึงกลไกคณะกรรมการลุ่มน้ำของ สทนช. หรือคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่และเร่งการระบายน้ำ ให้พี่น้องประชาชนกลับมามีชีวิตที่ปกติเร็วที่สุด นอกจากนี้ ขอให้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เนื่องจากในปัจจุบันมีร่องมรสุมพาดผ่าน ทำให้มีปริมาณฝนตกหนักให้เตรียมการพร่องน้ำเพื่อรองรับปริมาณน้ำฝน และวางแผนการระบายน้ำในพื้นที่ของจังหวัด ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้มีโทรสารแจ้งไปแล้ว และขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสารติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงให้ผู้ว่าราชการจังหวัดให้ความสำคัญในการขับเคลื่อน 13 มาตรการ รองรับสถานการณ์ฤดูฝน ปี 2565 ของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทน นายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะการขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา ซึ่งที่ผ่านมาในภาพรวมทั่วทั้งประเทศ ในปี 2565 สามารถกำจัดผักตบได้แล้ว จำนวน 7,103,928 ตัน สามารถช่วยลดปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำได้ นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำให้ตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยคันทำนบ พนังกั้นน้ำ ในบริเวณตลิ่งที่เป็นพื้นที่รองรับการระบายของน้ำ โดยให้กำชับสำนักงานโยธาธิการจังหวัด ร่วมดำเนินการกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นอกจากปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในทุกปีแล้ว ยังมีปัญหาน้ำแล้งที่เกิดขึ้นตามมาในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งเป็นวัฏจักรที่เกิดปัญหาซ้ำซากมาอย่างยาวนาน เนื่องจากการแก้ปัญหาทั้งสองเรื่องดังกล่าวค่อนข้างมีความซับซ้อน ทั้งปัญหาด้านงบประมาณ พื้นที่รองรับน้ำ สภาพภูมิประเทศ รวมถึงมิติการบริหารงานเชิงพื้นที่ที่แตกต่างกัน ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยเคยได้มีหนังสือสั่งการเน้นย้ำไปยังทุกจังหวัดแล้วเรื่อง โครงการขุดดินแลกน้ำ แต่ยังไม่มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม ซึ่งอาจต้องซักซ้อมทำความเข้าใจในการดำเนินการ จึงอยากให้จังหวัดทำเป็นวาระสำคัญในการแก้ไขปัญหา โดยให้จังหวัดศึกษา และพิจารณาเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมนำมาเป็นโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในจังหวัดที่เป็นต้นแบบเพื่อขยายผล ในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในปีนี้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะจัดพิธีมอบรางวัลจังหวัดสะอาดในวันที่ 16 กันยายน 65 ณ สโมสรกองทัพบก ถ.วิภาวดีรังสิต โดยมีจังหวัดที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับกลุ่มจังหวัด 5 ภาค ดังนี้ 1) ภาคเหนือ จังหวัดพิษณุโลก 2) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดยโสธร 3) ภาคกลางและภาคตะวันตก จังหวัดสระบุรี 4) ภาคตะวันออก จังหวัดจันทบุรี และ 5) ภาคใต้ จังหวัดยะลา นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยได้รับรางวัลเลิศรัฐทุกสาขา ได้แก่ รางวัลพิเศษ สานพลังร่วมใจ ต้านภัยโควิด รางวัลบริการภาครัฐ รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม และรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ รวมจำนวน 43 รางวัล โดยได้รับเกียรติจาก นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการมอบรางวัลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ขอแสดงความยินดีแก่ทุกหน่วยงานที่ได้รับรางวัล และเป็นกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงานทุกหน่วยงาน แม้จะไม่ได้รับรางวัล ขอให้ตั้งใจทุ่มเททำงานตามปณิธานแห่งการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ของกระทรวงมหาดไทย และไม่ละทิ้งความตั้งใจ ความเสียสละ และ Passion ในการ Change for Good เพื่อพี่น้องประชาชน

“ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเน้นย้ำกับข้าราชการทุกฝ่าย ให้ยึดหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) ในการทำงานโดยเคร่งครัด และอีกเรื่องที่สำคัญ คือ การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ผมได้เน้นย้ำทุกครั้ง ว่าให้ลด Demand คือ ลดจำนวนผู้เสพรายใหม่ และผู้เสพรายเก่า เพื่อไปลด Supply โดยการจัดให้มีกีฬา หรือกิจกรรมอื่น ๆ พร้อมทั้งนำผู้เสพเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู ณ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูในพื้นที่ แต่จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่เสพสารเสพติด จนเกิดผลกระทบต่อสมอง ซึ่งจัดเป็นประเภทที่เกินกว่าจะบำบัดฟื้นฟู และอาจเป็นภัยต่อสังคมตามที่ปรากฏในข่าวทั้งทำร้ายเพื่อน คนในชุมชน ญาติพี่น้อง หรือแม้กระทั่งทำร้ายบุพการี ขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ทำการสำรวจข้อมูลในพื้นที่ พร้อมติดตาม และเฝ้าระวังกลุ่มผู้เสพกลุ่มนี้ไม่ให้ก่อให้เกิดความรุนแรงในพื้นที่ และคิดหาวิธีรวมถึงแนวทางในรักษาความสงบเรียบร้อยด้วย ปัญหานี้ถือเป็น Pain Point ของการแก้ไขปัญหายาเสพติดมาอย่างยาวนาน ซึ่งผมเชื่อมั่นว่ากลไกในระดับพื้นที่ และภาคีเครือข่าย ภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถแก้ไขปัญหาได้” พลเอก อนุพงษ์ฯ กล่าวทิ้งท้าย