ข่าวประชาสัมพันธ์

จากสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย

ข่าวเช้าวันที่ 8 กันยายน 2565

มท.1 ตอบกระทู้ถาม ประเด็นการจ่ายเงินเดือนและค่าอาหารกลางวันให้แก่ครูพี่เลี้ยงและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ย้ำ กทม. อุดหนุนงบประมาณตามกฎหมาย ไม่มีการค้างจ่ายเงินค่าตอบแทน

วันนี้ 8 กันยายน 2565 พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมการตอบกระทู้ถามที่ 515 ของ นาย ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ประเด็น การจ่ายเงินเดือนและค่าอาหารกลางวันให้แก่ครูพี่เลี้ยงและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน รวมถึงประเด็นการยกฐานะครูอาสาสมัครผู้ดูแลเด็กเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานคร ณ ห้องประชุมพระสุริยัน ชั้น ๒ อาคารรัฐสภา กรุงเทพมหานคร

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ครูพี่เลี้ยงของศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น เป็นครูอาสาสมัครผู้ดูแลเด็กที่ไม่ได้รับเงินในรูปแบบของเงินเดือน เนื่องจากไม่ได้เป็นข้าราชการตามพระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2554 แต่จะได้เป็นค่าตอบแทน โดยหลักการการจ่ายค่าตอบแทนแก่ครูพี่เลี้ยงหรือครูอาสาสมัครผู้ดูแลเด็กนั้น จะต้องปฏิบัติงานให้แล้วเสร็จก่อนจึงจะสามารถเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนได้ตามจำนวนวันที่มาปฏิบัติงาน มีการดำเนินการเบิกจ่ายเงินตามขั้นตอนและมีหลักฐานการเบิกจ่ายที่ชัดเจน ไม่สามารถเบิกจ่ายค่าตอบแทนล่วงหน้าได้ โดยระยะเวลาการเบิกจ่ายค่าตอบแทนภายใน 10 วัน และไม่มีการค้างจ่ายค่าตอบแทนแต่อย่างใด ทั้งนี้ เหตุของการไม่สามารถยกฐานะครูพี่เลี้ยงเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครได้นั้น เนื่องจากกรุงเทพมหานครมีอาสาสมัครอยู่หลายประเภทกิจกรรม และมีเป็นจำนวนมาก หากยกฐานะให้อาสาสมัครทุกคนเข้ามาเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานคร จะเกิดปัญหาด้านงบประมาณที่เกินเพดานรายได้ 40% ของรายได้กรุงเทพมหานคร เป็นสาเหตุให้ไม่สามารถยกฐานะเป็นข้าราชการได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตามกรุงเทพมหานครก็ได้ให้ความช่วยเหลืออื่น ๆ รวมถึงด้านประกันสังคมด้วย

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวอีกว่า ความเป็นมาของศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนในชุมชนนั้น เกิดจากการที่ผู้ปกครองไม่สามารถส่งบุตรหลานไปเข้ารับการศึกษาภายนอกเขตหรือชุมชนได้ จึงมีบุคคลหรือหน่วยงานเอกชนที่ให้การสนับสนุนพื้นที่ทั่วกรุงเทพมหานคร จัดทำเป็นศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนขึ้นมาโดยใช้พื้นที่ของเขาเอง ต่อมากรุงเทพมหานครได้เห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนในพื้นที่ชุมชน จึงได้ให้ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคมของแต่ละเขต เข้าไปอุดหนุน ส่งเสริม พัฒนาตามขั้นตอน เพื่อพัฒนาศักยภาพเด็กก่อนวัยเรียนในชุมชนให้มีคุณภาพ การสนับสนุนดังกล่าวทำให้ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนได้รับการอุดหนุน อาทิ การให้การสนับสนุนด้านครุภัณฑ์ การให้ค่าอุปกรณ์การเรียนการสอน ค่าอุปกรณ์เสริมทักษะ อาหารและนม รวมถึงค่าตอบแทนครูอาสาสมัครผู้ดูแลเด็กด้วย ปัจจุบันมีจำนวนศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนในชุมชนกว่า 278 แห่ง โดยอยู่ในพื้นที่ของบุคคลหรือหน่วยงานเอกชน 258 แห่ง ในพื้นที่ 45 สำนักงานเขต มีเด็กก่อนวัยเรียน จำนวน 18,864 คน และอาสาสมัครผู้ดูแลเด็ก จำนวน 1,985 คน

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ปัจจุบันกรุงเทพมหานครอยู่ระหว่างการดำเนินการปรับปรุงระเบียบการจ่ายค่าอาหารแก่เด็กในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนกรุงเทพมหานคร จากเดิมคนละไม่เกิน 20 บาท/คน/วัน ปรับเพิ่มเป็น คนละไม่เกิน 32 บาท/คน/วัน รวมถึงดำเนินการปรับปรุงระเบียบการจ่ายค่าวัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอนอุปกรณ์เสริมทักษะ จากเดิมเฉลี่ยคนละไม่เกิน 100 บาท ปรับเพิ่มเป็น เฉลี่ยคนละไม่เกิน 600 บาท นอกจากนี้ยังได้มีการปรับปรุงระเบียบการจ่ายค่าตอบแทนอาสาสมัครผู้ดูแลเด็ก ตามระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการสนับสนุนการพัฒนาชุมชน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2556 จากเดิมต่ำสุด 7,590 บาทต่อเดือน สูงสุด 15,000 บาทต่อเดือน ตามวุฒิการศึกษา เพิ่มเป็น 12,000 บาทต่อเดือนถึง 17,500 บาทต่อเดือน ตามวุฒิการศึกษา ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลให้บริการเด็กเล็กของชุมชนต่าง ๆ ได้ดีขึ้น