ข่าวประชาสัมพันธ์

จากสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย

ข่าวเช้า วันที่ 7 สิงหาคม 2565

มท.1 กำชับผู้ว่าฯ – ปภ. เขต เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ น้ำท่วมฉับพลัน – น้ำป่าไหลหลาก – คลื่นลมแรง ห้วง 7-9 สิงหาคม 2565 และเฝ้าระวังน้ำเหนือพื้นที่เขื่อนเจ้าพระยา พร้อมแจ้งเตือนประชาชน-ผู้ประกอบการ เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

วันนี้ (7 ส.ค. 65) พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง ได้ติดตามสภาวะอากาศและปัจจัยเสี่ยงรวมทั้งกรมอุตุนิยมวิทยา ได้มีประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ลงวันที่ 5 ส.ค. 2565 เวลา 17.00 น. แจ้งว่า ร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำ บริเวณสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตอนบน และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้มีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล นอกจากนี้ บริเวณทะเลอันดามันตอนบน คลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง ได้กำหนดพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ฯ ในห้วงระหว่างวันที่ 7 – 9 ส.ค. 65 แบ่งเป็น 1) พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง ภาคเหนือ จ.แม่ฮ่องสอน (ทุกอำเภอ) จ.เชียงใหม่ (ทุกอำเภอ) จ.เชียงราย (อ.เมืองฯ เวียงป่าเป้า แม่จัน แม่ฟ้าหลวง แม่สาย) จ.ลำปาง (อ.เถิน เสริมงาม วังเหนือ งาว ห้างฉัตร) จ.น่าน (อ.เชียงกลาง ปัว ทุ่งช้าง ท่าวังผา) จ.อุตรดิตถ์ (อ.ท่าปลา น้ำปาด) จ.สุโขทัย (อ.ทุ่งเสลี่ยม เมืองฯ บ้านด่านลานหอย ศรีสัชนาลัย คีรีมาศ) จ.ตาก (อ.ท่าสองยาง แม่ระมาด แม่สอด พบพระ อุ้มผาง) จ.กำแพงเพชร (อ.คลองลาน โกสัมพีนคร) จ.พิษณุโลก (อ.วังทอง เนินมะปราง นครไทย ชาติตระการ วัดโบสถ์) จ.เพชรบูรณ์ (อ.วังโป่ง ชนแดน หล่มสัก หล่มเก่า เขาค้อ) จ.อุทัยธานี (อ.บ้านไร่ ห้วยคต ลานสัก) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย (อ.เมืองฯ ด่านซ้าย ท่าลี่) จ.อุดรธานี (อ.กุดจับ) จ.ชัยภูมิ (อ.เมืองฯ เทพสถิต บ้านเขว้า หนองบัวระเหว) จ.นครราชสีมา (อ.ปากช่อง วังน้ำเขียว สีคิ้ว ปักธงชัย ด่านขุนทด พิมาย) จ.บุรีรัมย์ (อ.เฉลิมพระเกียรติ นางรอง สตึก คูเมือง) จ.สุรินทร์ (อ.ปราสาท พนมดงรัก) ศรีสะเกษ (อ.ภูสิงห์ ขุนหาญ) และ จ.อุบลราชธานี (อ.บุณฑริก น้ำยืน นาจะหลวย น้ำขุ่น) ภาคกลาง จ.กาญจนบุรี (อ.ทองผาภูมิ สังขละบุรี) จ.ราชบุรี (อ.สวนผึ้ง บ้านคา) จ.ลพบุรี (อ.ชัยบาดาล ลำสนธิ) จ.นครนายก (อ.เมืองฯ ปากพลี) จ.ปราจีนบุรี (อ.กบินทร์บุรี นาดี) จ.สระแก้ว (อ.เมืองฯ วังน้ำเย็น ตาพระยา) จ.ระยอง (อ.เมืองฯ เขาชะเมา แกลง บ้านค่าย) จ.จันทบุรี (อ.เมืองฯ นายายอาม เขาคิชฌกูฏ สอยดาว โป่งน้ำร้อน มะขาม ขลุง) จ.ตราด (อ.บ่อไร่ เขาสมิง คลองใหญ่ เกาะช้าง เกาะกูด แหลมงอบ) และ จ.เพชรบุรี (อ.หนองหญ้าปล้อง แก่งกระจาน ชะอำ ท่ายาง) 2) พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง ภาคใต้ จ.ระนอง (อ.เมืองฯ สุขสำราญ กะเปอร์) จ.พังงา (อ.เมืองฯ เกาะยาว ทับปุด ตะกั่วทุ่ง ท้ายเหมือง ตะกั่วป่า คุระบุรี) และ จ.ภูเก็ต (อ.เมืองฯ กะทู้ ถลาง)

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ รวมทั้งลดผลกระทบจากสถานการณ์ฯ อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้กำชับผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศ และข่าวสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัย รถปฏิบัติการ กำลังพล ให้พร้อมปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง โดยหากประเมินสถานการณ์แล้ว คาดว่าจะเกิดสถานการณ์ หรือสถานการณ์ขยายวงกว้าง ให้มอบหมายบุคลากร ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) พร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัย รถปฏิบัติการ และประสานด้านข้อมูลกับศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง” พลเอก อนุพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยังได้กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง ได้รับแจ้งจากกรมชลประทานว่า ในห้วงวันที่ 7 – 11 ส.ค. 65 ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ทำให้มีน้ำท่าไหลเข้าสู่เขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นจนถึงประมาณกลางเดือน ส.ค. 65 โดยกรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอย่างเหมาะสม ด้วยการปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น จึงได้กำชับผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เตรียมพร้อมป้องกัน รับมือ และลดผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชนที่ประกอบกิจการในแม่น้ำ อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำ บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ คลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) ให้เฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์ ตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค. 65 เป็นต้นไป ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัย สามารถติดต่อสายด่วนนิรภัย โทร. 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง