ข่าวประชาสัมพันธ์

จากสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย

ข่าวเช้า 26 พฤษภาคม 2565

มท.1 เน้นย้ำ “รถไฟฟ้าสายสีเขียวเพื่อประโยชน์พี่น้องประชาชน เตรียมส่งให้ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. และว่าที่ สก. พิจารณาทบทวน”

เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 65 เวลา 11.30 น. ที่ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร อาคารรัฐสภา เกียกกาย กรุงเทพฯ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจา เรื่อง การสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) โดยมี นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ตั้งกระทู้ถาม

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เป็นโครงการที่เกิดปัญหาเกิดขึ้นตั้งแต่ในอดีตและส่งผลมาถึงในปัจจุบัน โดยรถไฟฟ้าสายสีเขียวแบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ สายสีเขียวหลัก (หมอชิต – อ่อนนุช) ดำเนินการโดยบริษัทเอกชน คือ กลุ่มบีทีเอส เป็นผู้ลงทุนสร้างรางและวางระบบเดินรถ บริหารเดินรถเองทั้งหมด ได้รับสัมปทานระยะเวลา 30 ปีคือ ปี 2542 – 2572 จากนั้นเมื่อหมดสัมปทานต้องคืนทรัพย์สินให้กรุงเทพมหานคร ส่วนต่อขยายที่ 1 (สะพานตากสิน – วงเวียนใหญ่ – บางหว้า และอ่อนนุช – แบริ่ง) ดำเนินการโดยกรุงเทพมหานคร และจัดจ้างกลุ่มบีทีเอสเดินรถ และส่วนต่อขยายที่ 2 (แบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ซึ่งรัฐบาลในอดีตได้โอนไปให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ก่อสร้าง ต่อมีการโอนส่วนต่อขยายที่ 2 นี้พร้อมหนี้สินทั้งหมดกลับมาให้กรุงเทพมหานคร และกรุงเทพมหานครได้หารือมายังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณา

“เมื่อกรุงเทพมหานครประสบปัญหา คสช. จึงหาแนวทางแก้ไขให้เกิดความโปร่งใสที่สุด โดยมีคณะกรรมการเจรจา เพื่อประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน และเกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการ ซึ่งขณะนี้เรื่องเจรจาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งอาจออกได้ 2 แนวทาง ทั้งเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบก็ได้ ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2563 คณะรัฐมนตรีได้มีการรับฟังความคิดเห็น 11 ครั้ง โดยนำข้อมูลทุกฝ่ายมาพิจารณา และเมื่อมีการประกาศรับรองผลผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสภากรุงเทพมหานครชุดใหม่แล้ว นายกรัฐมนตรีจะได้เสนอให้กรุงเทพมหานครไปพิจารณาทบทวนการดำเนินการ” พลเอก อนุพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ